จีนเพิ่งให้คำมั่นต่อที่การประชุมด้านภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติที่กรุงปารีส ว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไออกไซด์ต่อหน่วยการผลิตลง ร้อยละ 65 และเตรียมมาตรการอื่นๆ เพื่อเร่งการลดมลพิษทางอากาศ
ความคืบหน้านี้เกิดขึ้นช่วงเดียวกับที่จีนประกาศพื้นที่สีแดงที่สะท้อนอันตรายจากหมอกควันพิษในเขตเมือง
อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมสร้างความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของจีน กล่าวคือการลดกิจกรรมการผลิตและการก่อสร้าง อาจไปซ้ำเติมอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น พลังงาน ไฟฟ้า คอนกรีตและเหล็กเป็นต้น ทั้งๆที่อุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังโดนกดดันจากการชะลอของเศรษฐกิจจีนอยู่แล้วในขณะนี้
Chen Wei Dong นักวิเคราะห์อาวุโสจาก สถาบันเศรษฐกิจพลังงานของบริษัท CNOOC ของจีนกล่าวว่า การความคุมเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดจะส่งผลที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจได้
ในเวลานี้ ธุรกิจน้ำมันซึ่งจ้างคนจีนเกือบ 10 ล้านคนต้องฝ่าวิกฤตราคาน้ำมันตกต่ำ หลังจากที่น้ำมันดิบราคาร่วงลงจาก 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ราวๆ 40 ดอลลาร์
สำหรับในอุตสาหกรรมถ่านหินที่เป็นพลังงานหลักของการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม บริษัทแห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเพิ่งประกาศลอยแพพนักงานหนึ่งแสนคน เพราะกิจการหดตัวลง
เจ้าหน้าที่จีนจึงกำลังเดินอยู่บนทางสองแพร่ง ด้านหนึ่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจจากมาตรการช่วยสิ่งแวดล้อมอาจสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองได้ แต่อีกด้านหนึ่ง หากทางการไม่สามารถการจัดการปัญหาหมอกควันพิษตามเมืองใหญ่ กระแสความไม่พอใจรัฐบาลก็พร้อมที่จะขยายวงกว้าง
พรรคคอมมิวนิสต์จีนส่งสัญญาณว่าจะดูแลทั้งสองเรื่องไปพร้อมๆ กัน เพราะตระหนักว่าทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมโยงใยกับการเมืองเช่นเดียวกัน
ดังนั้นจึงมีผู้คาดหมายว่า รัฐบาลจะพยายามเดินหน้าโครงการก่อสร้างเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่จะไม่ทำในเขตเมืองใหญ่ที่มีปัญหามลพิษอยู่แล้ว คืออาจจะใช้วิธีสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา โดยหวังว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถพยุงธุรกิจก่อสร้างและพลังงานได้
แต่ Adam Dunnett เลขาธิการหอการค้ายุโรปประจำประเทศจีนบอกว่า การคิดแบบนี้อาจสร้างปัญหาตามมา ผู้ประกอบการเพิ่มกำลังการผลิตเกินกว่าความต้องการที่มี เขาบอกว่าธนาคารควรหยุดให้เงินกู้ที่จะไปเพิ่มหนี้เสีย และหน่วยงานท้องถิ่นของจีนไม่ควรลงทุนในโครงการที่ไม่มีกำไร
ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่กรุงปักกิ่งกล่าวที่การประชุมในปารีสว่า จีนสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการผลิตได้ร้อยละ 34 ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามช่วงดังกล่าวเป็นเวลาที่การขยายตัวของเศรษฐกิจเริ่มเห็นการลดความร้อนแรงลง ซึ่งเป็นปัจจัยให้มีการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิตน้องลงด้วย
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการรณรงค์ให้ใช้พลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงสะอาด เช่นจากพลังงานแสงอาทิตย์ กรุงปักกิ่งกำลังรณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
แต่ผู้สันทดกรณีกล่าวว่า จีนคงจะจริงจังเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่าที่จะทำได้ หากว่ามาตรการเหล่านั้นไม่มีผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน
(รายงานโดย Saibal Dasgupta / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)