ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนประนามข้อตกลงทางทหาร 'ออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น' ฉบับประวัติศาสตร์ 


Commandant of the Marine Corps of the U.S. General David H. Berger meets with Japan's Prime Minister Yoshihide Suga in Tokyo
Commandant of the Marine Corps of the U.S. General David H. Berger meets with Japan's Prime Minister Yoshihide Suga in Tokyo

ออสเตรเลียและญี่ปุ่นลงนามในข้อตกลงด้านการทหารฉบับประวัติศาสตร์ กระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารท่ามกลางความตึงเครียดกับจีนที่มีมากขึ้น

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงฉบับแรกในรอบ 60 ปีของญี่ปุ่นที่ครอบคลุมถึงกองกำลังทหารต่างชาติบนแผ่นดินญี่ปุ่น โดยข้อตกลงฉบับก่อนหน้านี้เมื่อปีค.ศ. 1960 อนุญาตให้สหรัฐฯ มีกองกำลังทหาร เครื่องบินและเรือรบบนแผ่นดินญี่ปุ่นได้

ข้อตกลงระหว่างออสเตรเลียและญี่ปุ่นฉบับนี้จะอนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อฝึกอบรมและซ้อมรบร่วมกัน โดยทั้งสองประเทศใช้เวลาเจรจาถึงหกปีก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลงที่ทางออสเตรเลียระบุว่าเป็น “ช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย”

สาระสำคัญของความตกลงในหลักการฉบับนี้เป็นการพิจารณาร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ของญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ที่เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อพิจารณาข้อตกลง โดยทางสภาญี่ปุ่นจะต้องรับรองข้อตกลงฉบับนี้ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

นายกรัฐมนตรีมอร์ริสันเป็นผู้นำประเทศต่างชาติคนแรกที่นายกรัฐมนตรีซูกะให้การต้อนรับ นับตั้งแต่เขาดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน โดยผู้นำออสเตรเลียกล่าวว่า ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่พิเศษกับออสเตรเลียเป็นอย่างมากโดยเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์ และทั้งสองประเทศมี “บทบาทสำคัญร่วมกัน” ในภูมิภาคแปซิฟิคตะวันตกเฉียงใต้

นักวิเคราะห์เห็นว่า ท่าทีเชิงรุกของจีนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งในบริเวณข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และการปฏิบัติต่อผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง เป็นประเด็นสำคัญที่คาดว่าผู้นำญี่ปุ่นและออสเตรเลียได้หารือกัน

สื่อของทางการจีนวิจารณ์ข้อตกลงของญี่ปุ่นและออสเตรเลีย โดยระบุว่าข้อตกลงนี้พุ่งเป้ามาที่จีนอย่างชัดเจน และเร่งให้เกิดบรรยากาศการเผชิญหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคให้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและออสเตรเลียลดระดับลงหลังมีข้อกล่าวหาว่าจีนเข้าแทรกแซงการเมืองภายในของออสเตรเลีย และการที่ออสเตรเลียเรียกร้องให้ทั่วโลกหาแหล่งที่มาของเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีรายงานว่าตรวจพบในจีนเป็นที่แรกเมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้ว

จีนตอบโต้ออสเตรเลียด้วยการประกาศห้ามนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลีย รวมทั้งไวน์ ข้าวบาร์เลย์ และสินค้าทางเกษตรอื่น ๆ ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย โดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่ใหญ่รองลงมาเป็นอันดับสอง

XS
SM
MD
LG