รัฐบาลจีนเป็นเจ้าภาพการฝังศพอดีตนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ในวันพฤหัสบดี โดยเป็นการจัดพิธีแบบเงียบ ๆ และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน ทั้งยังมีการกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่รอบ ๆ สถานที่ตั้งศพและสุสานปฏิวัติป๊าเป่าซาน (Babaoshan Revolutionary Cemetery) ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของอดีตผู้นำประเทศหลายรายด้วย
แม้ทางการกรุงปักกิ่งจะพยายามควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการจากไปของอดีตนายกฯ หลี่ เพราะไม่ต้องการให้เกิดภาวะความไม่สงบทางสังคมขึ้น มีรายงานว่า ผู้คนหลายร้อยได้มารวมตัวกันที่บริเวณสุสานดังกล่าวเพื่อไว้อาลัยแด่อดีตผู้นำจีนรายนี้อยู่ดี
สื่อสังคมออนไลน์เอ็กซ์ (X) ยังมีการเผยแพร่ภาพถ่ายจากบริเวณสุสานที่แสดงให้เห็นกลุ่มคนสวมเสื้อผ้าสีดำและยืนรออยู่ข้าง ๆ ถนนที่วิ่งเข้าไปยังสุสานที่ว่า เพื่อรอถ่ายวิดีโอขบวนรถที่เชื่อว่า รับผิดชอบการเคลื่อนย้ายโลงศพของอดีตนายกฯ หลี่ เข้าไปทำการฝังด้วย
นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่า ความพยายามของชาวจีนบางส่วนที่ต้องการร่วมรำลึกถึงอดีตนายกฯ ผู้นี้ สะท้อนภาพความไม่พอใจต่อนโยบายคุมเข้มของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และว่า บรรดาความลับต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของหลี่นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการระวังภัยของรัฐบาลกรุงปักกิ่งเพื่อไม่ให้มีการจุดประกายการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจของปธน.สีด้วย
ยาฉิว หวัง ผู้อำนวยการด้านงานวิจัย จีน ฮ่องกงและไต้หวัน จาก Freedom House บอกกับ วีโอเอ ว่า “แน่นอนเลยว่า รัฐบาลจีนต้องการกีดกันประชาชนไม่ให้ออกมาแสดงความรู้สึก(เกี่ยวกับการเสียชีวิตของหลี่) ในที่สาธารณะ”
อดีตนายกฯ หลี่ เสียชีวิตจากอาการโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม หรือไม่กี่เดือนหลังก้าวลงจากตำแหน่ง
ก่อนการจัดงานศพในวันพฤหัสบดี ทางการจีนไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับตัวพิธีเลยและมีเพียงประกาศสั้นออกมาแจ้งประชาชนว่า จะมีการฌาปนกิจร่างของอดีตผู้นำรายนี้ที่กรุงปักกิ่งและจะมีการลดธงครึ่งเสาทั่วประเทศเพื่อไว้อาลัย ขณะที่ สื่อซินหัวตีพิมพ์ภาพถ่าย 2 ภาพที่แสดงให้เห็นธงชาติจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินซึ่งถูกลดลงครึ่งเสา
การเซ็นเซอร์ออนไลน์
หลังมีการประกาศข่าวการเสียชีวิตของหลี่เมื่อวันศุกร์ที่แล้วออกมา ทางการจีนดำเนินการเซ็นเซอร์ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตทันที ด้วยการคัดกรองหรือลบความเห็นใด ๆ ก็ตามที่สรรเสริญความสำเร็จต่าง ๆ ของอดีตนายกฯ ผู้นี้ จนเหลือเพียงข้อความสั้น ๆ อาทิ “ขอให้ท่านไปดี” หรือ “ท่านจะคงอยู่(กับเรา)ตลอดไป” อยู่ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ เท่านั้น
นอกจากนั้น แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ยังปิดกั้นการเล่นเพลงรัก ที่มีชื่อซึ่งแปลได้ว่า “Unfortunately, It’s Not You” และเป็นเพลงที่นักท่องเน็ตชาวจีนมักแชร์ออกมาเมื่อมีผู้นำประเทศเสียชีวิต โดยรายงานข่าวระบุว่า การเล่นเพลงนี้ของชาวจีนเป็นการแฝงคำตัดพ้อว่า คนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปก็คือ ปธน.สี นั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ทางการจีนยังลบข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับการกล่าวไว้อาลัยอดีตนายกฯ หลี่ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระหว่างการประชุมกับหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนด้วย
เจฟฟ์ วาสเซอร์สตรอม นักประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ บอกกับ วีโอเอ ว่า ความพยายามของกรุงปักกิ่งในการเซ็นเซอร์ข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของหลี่ ไม่ได้เป็นเรื่องของสิ่งที่อดีตผู้นำรายนี้ทำไว้ในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เป็นประเด็นเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเคยพูดไว้ในอดีตซึ่งอาจถูกมองว่า เป็นจุดยืนการต่อต้านอำนาจของปธน.สี มากกว่า
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น