ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จับตาท่าที ‘เกาหลีใต้’ ใจกลางความบาดหมางสหรัฐฯ-จีน


FILE - A screen shows flags of South Korea and the United States to celebrate the 70th anniversary of the South Korea-U.S. alliance in Seoul, South Korea, April 26, 2023.
FILE - A screen shows flags of South Korea and the United States to celebrate the 70th anniversary of the South Korea-U.S. alliance in Seoul, South Korea, April 26, 2023.

ความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างความระส่ำระสายให้กับหลายประเทศในอินโดแปซิฟิก รวมถึงเกาหลีใต้ที่ต้องพยายามรักษาสมดุลสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจเอาไว้

ในช่วงแรกอาจดูเหมือนเรื่องแปลกที่จีนแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการย้ำถึงวิสัยทัศน์ด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดี ยูน ซุก ยอล แห่งเกาหลีใต้

แต่ท้ายที่สุดแล้ว เอกสารยุทธศาสตร์ความยาว 42 หน้ากระดาษไม่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์จีนโดยตรง อันที่จริง ในเอกสารนี้แทบไม่ได้พาดพิงถึงจีนอย่างชัดเจนเลย เว้นแต่การกล่าวถึงจีนว่าเป็น “หุ้นส่วนสำคัญสำหรับการบรรลุเป้าหมายความมั่งคั่งและความสงบสุข”

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก 1 วันหลังจากเอกสารดังกล่าวตีพิมพ์ออกไปเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีก่อน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนตอบเพียงสั้น ๆ และเตือนถึงการรวมตัวของ “กลุ่มพิเศษ” ด้วย

เมื่อวิเคราะห์อย่างใกล้ชิดจะช่วยอธิบายถึงปรากฎการณ์นี้ ในเอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของเกาหลีใต้เต็มไปด้วยสิ่งที่เห็นได้ว่าเป็นการวิจารณ์รัฐบาลปักกิ่งที่สยายปีกเผด็จการในประเทศพร้อม ๆ กับเพิ่มความก้าวร้าวกับเพื่อนบ้านแบบอ้อม ๆ

อย่างเช่น เนื้อหาบางส่วนในเอกสารที่ประณามการใช้กำลังและการบังคับขู่เข็ญ และในเอกสารดังกล่าวระบุว่าเกาหลีใต้สนับสนุนการธำรงไว้ซึ่ง “ระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์” ซึ่งสร้างขึ้นจากระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ เป็นครั้งแรกที่เอกสารด้านนโยบายของทางการเกาหลีใต้ “ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก” เชื่อมโยงชะตากรรมของไต้หวันกับเกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของจีนที่ว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องภายในประเทศล้วน ๆ

เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่าปธน.ยูน แสดงจุดยืนที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าจะยืนหยัดเคียงข้างสหรัฐฯ และกล้าเผชิญหน้าจีนมากขึ้น และนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ท่าทีของผู้นำเกาหลีใต้แทบจะไม่สร้างคำถามเกี่ยวกับแนวทางของเขาต่อมหาอำนาจที่ขับเคี่ยวกันอย่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้

ท่าทีกล้าเผชิญหน้ากับปักกิ่ง

สำหรับปธน.ยูน ซึ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ไม่ยากที่จะหาหลักฐานเรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบายของเกาหลีใต้ในยุคของปธน.ยูน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเมื่อเดือนเมษายน ปธน.เกาหลีใต้ประณาม “ความพยายามหลายครั้งในการเปลี่ยนแปลงของสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) ด้วยการใช้กำลัง” ในไต้หวัน ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างถึงภัยคุกคามด้านการทหารที่เพิ่มขึ้นของจีนต่อไต้หวัน ในประเด็นนี้ ปธน.ยูนเสริมว่าเป็นประเด็นที่สำคัญระดับโลก

หลังจากกระทรวงต่างประเทศจีนออกโรงตำหนิผู้นำเกาหลีใต้ในการแสดงความเห็นนี้ รัฐบาลกรุงโซลตอบโต้กลับด้วยการเรียกทูตจีนเข้าพบและประณามคำวิจารณ์ของรัฐบาลปักกิ่งว่า “เลวร้ายเกินพรรณนา” และยื่นเรื่องร้องเรียนกับสื่อทางการของจีนในประเด็นการดูหมิ่นปธน.ยูน “อย่างไม่มีมูล”

จีนยังจับตามองปธน.ยูนฟื้นฟูสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับญี่ปุ่น ปูทางให้ทั้ง 2 ชาติเสริมสร้างความร่วมมือใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ในการรับมือกับภัยคุกคามที่มีร่วมกัน

Japan G7 Summit
Japan G7 Summit

ความริเริ่มที่สหรัฐฯ เป็นโต้โผ

ใต้การนำของปธน.ยูน เกาหลีใต้เข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือระดับพหุภาคีหลากหลายที่มุ่งเน้นการต่อต้านภัยคุกคามจากจีน รวมถึงการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี7 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ที่เพิ่งออกแถลงการณ์มุ่งเป้ามายังจีนที่แข็งกร้าวที่สุดเท่าที่เคยมีมาสำหรับผู้นำกลุ่มจี7

ความร่วมมือบางอย่างไม่ใช่เรื่องใหม่ของเกาหลีใต้ เพราะก่อนหน้านี้อดีตปธน.มูน แจ อิน ได้เข้าร่วมเวทีจี7 การประชุมสุดยอดประเทศสมาชิกนาโต้ ประชุมจตุภาคี หรือ Quad และเวที Summit for Democracies ที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำ

แต่ปธน.ยูนเลือกจะไปไกลกว่านั้น ในการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก ที่เป็นการถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนและพันธมิตรในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะบั่นทอนอิทธิพลของจีนในหมู่เกาะแปซิฟิก

ในทิศทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจนว่าเกาหลีใต้ไม่ได้มองหาความเป็นกลางระหว่างสหรัฐฯ และจีนอีกต่อไป ในทัศนะของ เรมอน พาเชโก พาร์โด ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลี แห่ง King’s College London ที่เปิดเผยกับวีโอเอว่า “ในมุมมองของผม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายขนานใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา แต่ผมคิดว่า(ปธน.)ยูนมีความเปิดกว้างมากกว่า(ปธน.)มูน เกี่ยวกับสิ่งที่เขาทำเกี่ยวกับจีน”

World leaders from G7 and invited countries, and organizations pose for a family photo during the G7 Leaders' Summit in Hiroshima, Japan, May 20, 2023.
World leaders from G7 and invited countries, and organizations pose for a family photo during the G7 Leaders' Summit in Hiroshima, Japan, May 20, 2023.

ค่านิยมนำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ส่วนสาเหตุที่เกาหลีใต้เข้าร่วมโครงการความริเริ่มที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำ ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชเว ยัง ซัม กล่าวว่ารัฐบาลกรุงโซลยังคงเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลปักกิ่งอยู่ และว่า “(นี่)ไม่ใช่แค่ความร่วมมือระดับภูมิภาคหรือความเป็นหนึ่งเดียวกันอันมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำเท่านั้น มันคือค่านิยมนำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในระดับสากล” พร้อมเสริมว่า “เราไม่ได้แค่ทำงานร่วมกับสหรัฐฯ เพราะความเป็นสหรัฐฯ (แต่) เพราะเป็นสิ่งที่ดีต่อเสรีภาพและสันติภาพและความมั่งคั่ง ... เราต้อนรับจีนในการมีส่วนร่วมในความพยายามในระดับสากลมากขึ้น”

รมช. ชเว กล่าวกับวีโอเอระหว่างการเตรียมการขั้นสุดท้ายในการเป็นเจ้าภาพผู้นำ 17 ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ในการประชุมสุดยอด Korea-Pacific Islands Summit ที่จัดขึ้นครั้งแรก ซึ่งทางแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมสุดยอดที่จัดเมื่อสัปดาห์ก่อน เน้นย้ำถึงความสำคัญของ “คุณค่าสากลที่มีร่วมกัน”

Biden US South Korea
Biden US South Korea

ประเด็นที่แตกต่างระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้

แม้ว่าปธน.ยูน จะออกมาวิจารณ์จีน แต่ความแตกต่างระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ยังคงมีให้เห็นอยู่ ในประเด็นไต้หวันและยูเครน

ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกาหลีใต้จะร่วมสู้รบกับพันธมิตรสหรัฐฯ ในสงครามไต้หวันหรือไม่ เพราะในบทสัมภาษณ์เมื่อปีก่อน ปธน.ยูน กล่าวว่าพันธมิตรสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ควรมุ่งเน้นในประเด็นเกาหลีเหนือ แม้ว่าจะมีความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันเกิดขึ้นมาก็ตาม ซึ่งผู้นำเกาหลีใต้ระบุว่ารัฐบาลเปียงยางอาจจะใช้เรื่องนี้เพื่อจุดประเด็นยั่วยุได้

อีกทั้งภายใต้การนำของปธน.ยูน เกาหลีใต้ปฏิเสธที่จะส่งอาวุธให้กับยูเครนโดยตรง เพื่อใช้ในการรับมือกับการรุกรานของรัสเซีย

นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังไม่ได้เข้าร่วมบังคับใช้มาตรการที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำในการลงโทษหรือกดดันทางเศรษฐกิจกับจีน ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจเพราะจีนยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเกาหลีใต้

ที่น่าสังเกตมากที่สุด คือ เกาหลีใต้ไม่ได้บังคับใช้มาตรการจำกัดการส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่จีน แม้สหรัฐฯ จะมีมาตรการดังกล่าวออกมา โดยเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้ คือ เกาหลีใต้ส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ 55% ไปยังจีนเมื่อปีที่แล้ว ตามข้อมูลของทางการเกาหลีใต้ที่เปิดเผยกับ Business Korea

จีนตอบโต้กลับ

เศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังคงต้องพึ่งพาจีน รัฐบาลกรุงโซลยังคงอ่อนไหวต่อการบีบบังคับของรัฐบาลปักกิ่ง มีสัญญาณเพิ่มมากขึ้ว่าจีนอาจใช้ข้อต่อรองเรื่องนี้กับเกาหลีใต้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อปี 2017 ที่จีนใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจกับภาคธุรกิจเกาหลีใต้ หลังจากติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ THAAD ที่รัฐบาลปักกิ่งมองว่าเป็นภัยคุกคาม

และเมื่อเดือนที่แล้ว จีนดูเหมือนจะปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์เสริชเอ็นจิ้นจากบริษัทเนเวอร์ (Naver) ของเกาหลีใต้ รวมทั้งมีบทบรรณาธิการของสื่อรัฐบาลจีนที่ออกบทความโจมตีปธน.ยูนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งหากการตอบโต้กลับของจีนรุนแรงขึ้น แนวทางของปธน.ยูนจะเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น ในมุมมองของเจฟฟรีย์ โรเบิร์ตสัน อาจารย์จาก Yonsei University ในกรุงโซล ที่เห็นว่า ความสัมพันธ์ของเกาหลีใต้ต่อสหรัฐฯ และจีน เปรียบได้กับลูกตุ้มที่แกว่งไปมา

โดยจุดกึ่งกลางของลูกตุ้มนี้ คือ ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับจีน “และทั้งสองจะไม่เปลี่ยนแปลงจนว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงบางอย่างเกิดขึ้น”

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG