คำถามที่ว่า หากใครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้วเขาจะสามารถออกคำสั่ง "อภัยโทษตนเองได้หรือไม่" เป็นข้อถกเถียกทางวิชาการมานาน
แต่ปัจจุบันมีคนกล่าวถึงเรื่องนี้ในวงกว้างมากขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถูกกล่าวหาและถูกกดดันให้รับผิดชอบ ต่อกรณีม็อบผู้สนับสนุนเขาบุกยึดรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ขณะที่สภากำลังรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่ทรัมป์แพ้ต่อโจ ไบเดนคู่เเข่ง จากพรรคเดโมเเครต
เมื่อวานนี้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่เดโมเเครตคุมเสียงข้างมากอยู่ ลงมติสนับสนุนขอถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์จากกรณีม็อบบุกรัฐสภา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตห้าคน ผู้นำสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาว่าปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ขณะที่เขากล่าวว่าการเดินหน้าถอดถอนเขาเป็นเรื่อง "น่าขัน" และว่า "เป็นการล่าแม่มดอย่างต่อเนื่อง" ของฝ่ายเดโมเเครต
ทั้งนี้ ต้องดูว่าวุฒิสภาจะลงมติอย่างไรในลำดับถัดไป
แม้ประเด็น "ออกคำสั่งอภัยโทษตนเอง" จะฟังดูผิวเผินว่าน่าจะดีต่อทรัมป์ แต่มีรายงานข่าวว่า ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีทรัมป์บางรายไม่ต้องการให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำเช่นนั้น
ประการเเรกอาจถูกมองได้ว่าเป็นการยอมรับว่าเกิดการกระทำผิดจริง และประการที่สอง ฝ่ายของว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนอาจท้าทายความถูกต้องทางกฎหมายของการอภัยโทษ และนำไปสู่การสอบสวนเพื่อตั้งข้อหาโดนัลด์ ทรัมป์
สำหรับคำถามว่า โดยทั่วไปแล้วประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถอภัยโทษตนเองได้หรือไม่?
เรื่องนี้สามารถอ้างอิงได้จากข้อที่สองของรัฐธรรมนูญอเมริกัน ที่ให้อำนาจประธานาธิบดี "ยกเลิก ชะลอ หรืออภัยโทษ การกระทำผิดใดที่มีต่อประเทศสหรัฐฯ ยกเว้นแต่กรณีของการถอดถอนออกจากตำแหน่งผ่านสภา (impeachment)"
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญเรื่องนี้กว้างมากและเปิดให้ตีความได้หลายอย่าง ดังนั้นหาก ประธานาธิบดีออกคำสั่งอภัยโทษตนเอง ก็น่าจะนำไปสู่การท้าทายในชั้นศาล
เจฟฟรีย์ เคราช์ ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์จาก American University กล่าวว่าไม่มีผู้นำสหรัฐฯในอดีตคนใดที่อภัยโทษตนเอง ดังนั้นจึงไม่มีกรณีที่เกิดขึ้นจริงที่ใช้เป็นบรรทัดฐานได้
นักวิชาการผู้นี้ที่เขียนหนังสือเรื่องอำนาจอภัยโทษของประธานาธิบดีโดยเฉพาะ กล่าวว่า แม้ประธานาธิบดี ริดชาร์ด นิกสัน จะเคยพิจารณาว่าจะอภัยโทษตนเองหรือไม่ แต่เขาก็มิได้ทำเช่นนั้นจริง
ผู้ที่ว่าประธานาธิบดีสามารถทำเช่นนั้นได้ เชื่อว่า เนื่องจากผู้นำสหรัฐฯมีอำนาจตามปกติที่จะออกคำสั่งอภัยโทษคดีอาญาต่างๆ ได้อยู่แล้ว อำนาจนี้จึงน่าจะครอบคลุมคดีอาญาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง
แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วย เช่นศาสตราจาร์กฎหมายสตีฟ มัลรอยแห่ง University of Memphis คิดว่า "การอภัยโทษ" เป็นเรื่องที่มีผู้ให้และผู้รับ หมายถึงต้องมีบุคคลสองฝ่าย ดังนั้นการ "อภัยโทษตนเอง" ซึ่งบุคคลเดียวกันเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่น่าเป็นไปตามหลักกฎหมาย
ศาสตราจารย์มัลรอยกล่าวด้วยว่ากฎหมายอเมริกันซึ่งมีรากฐานจากกฎหมายอังกฤษ ควรยึดตามหลักเกณฑ์ที่ว่า ไม่มีใครควรเป็นผู้พิพิกษาให้กับตนเอง
หลักเกณฑ์ดังกล่างก็เคยถูกใช้เป็นเกณฑ์เมื่อ 47 ปีก่อนที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯศึกษาความถูกต้องทางกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษตนเอง
อีกคำถามที่ตามมาคือ เนื้อหาสาระของคำสั่งอภัยโทษตนเองจะเป็นอย่างไร?
ตามปกติประธานาธิบดีจะระบุชัดว่าต้องการอภัยโทษบุคคลจากข้อหาใด แต่สำหรับการอภัยโทษตนเอง นักวิชาการกล่าวว่า ประธานาธิบดีน่าจะออกคำสั่งให้ตนพ้นผิด "ในทุกกรณีโดยสมบูรณ์อย่างไม่มีเงื่อนไข" หรือ "อภัยโทษแบบปูพรม"
ศาสตราจารย์วิชากฎหมาย เเคไรลิน มาลา คอร์บินแห่ง University of Miami กล่าวถึงกรณีศึกษาที่ใกล้เคียงกันเมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีนิกสัน ลาออกและเปิดทางให้รองประธานาธิบดี เจอรัล ฟอร์ดเป็นผู้นำประเทศต่อจากเขา และเขาก็ได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดี ฟอร์ดในเวลาต่อมา
ในครั้งนั้น คำสั่งอภัยโทษมีลักษณะ "อภัยโทษแบบปูพรม"
และจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า หากเกิดการอภัยโทษตนเองจริง จะมีการถูกท้าทายทางกฎหมาย?
ตามปกติ เมื่อประธานาธิบดีใช้อำนาจอภัยโทษผู้อื่น การให้พ้นโทษถือว่ามีผลสิ้นสุด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
แต่การให้อภัยตนเองอาจนำไปสู่การฟ้องร้องต่อไปได้
เป็นที่ทราบกันว่า ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน ไม่มีความประสงค์ที่จะให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ดำเนินการสอบสวนเพื่อเอาผิดต่อประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อเขาพ้นตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์อภัยโทษตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กรณีดังกล่าวก็อาจจะเปิดทางให้มีตีความว่ารัฐธรรมนูญอเมริกันอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้เหรือไม่
ส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้อาจนำไปสู่การพิจารณาดำเนินการตรวจสอบว่าทรัมป์ มีความผิดที่สามารถถูกตั้งข้อหาได้หรือไม่
และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง กรณีที่ว่านี้ก็น่าถูกพิจาณาโดยศาลสูงสุดของสหรัฐฯ