ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘กัมพูชา’ ถ่ายทอดความรู้ ช่วย ‘ยูเครน’ กู้ระเบิด


‘กัมพูชา’ ถ่ายทอดความรู้ ช่วย ‘ยูเครน’ กู้ระเบิด
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:06 0:00

‘กัมพูชา’ ถ่ายทอดความรู้ ช่วย ‘ยูเครน’ กู้ระเบิด

เหตุการณ์รัสเซียรุกรานยูเครน ยังผลให้มีระเบิดที่ยังไม่จุดชนวนมากมายถูกพบในดินแดนราว 40% ของยูเครน พันธมิตรยูเครนต่างยื่นมือเข้าช่วยเหลือในการเก็บกู้ระเบิดให้กับยูเครน รวมทั้งกัมพูชาด้วย

ในประเทศโปแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศกัมพูชา แสดงการใช้อุปกรณ์เก็บกู้ทุ่นระเบิดให้แก่ อาร์เซนีย์ ดยาเชนโก้ จากหน่วยบริการฉุกเฉินของรัฐในประเทศยูเครน พร้อมเพื่อนร่วมงานของเขา ซึ่งในวันนั้น ดยาเชนโก้ก็ได้สาธิตวิธีการทำงานของเครื่องเก็บกู้ทุ่นระเบิด Advanced Landmine Imaging System หรือ ALIS ที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยประเทศญี่ปุ่น

ดยาเชนโก้ อธิบายว่าเครื่องนี้จะช่วยให้เราสามารถเห็นวัตถุโลหะในพื้นดินและแสดงเส้นเชิงพื้นที่ จากการสำรวจด้วยวิธีสัญญาณเรดาร์ (Ground Penetrating Radar – GPR) เมื่อมองผ่านหน้าจอของการสำรวจ เราต้องประเมินว่าสิ่งที่พบเป็นทุ่นระเบิดหรือเป็นเพียงเศษโลหะ

อุปกรณ์เก็บกู้ทุ่นระเบิดขั้นสูงและความช่วยเหลือด้านการใช้งานมีความสำคัญอย่างมากสำหรับยูเครน ตามการประเมินของรัฐบาลยูเครน ทุ่นระเบิดและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่ระเบิดซึ่งเป็นผลมาจากสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน สามารถพบได้ใน 40% ของพื้นที่ในดินแดนยูเครน

ดยาเชนโก้ กล่าวว่า "ขณะนี้ ความต้องการที่เร่งด่วนของเรา มีทั้งอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล เครื่องเก็บกู้ทุ่นระเบิด และเครื่องตรวจจับโลหะในพื้นที่อย่าง ALIS"

ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชา (Cambodian Mine Action Center - CMCA) ได้ช่วยฝึกอบรมการเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้แก่ยูเครน หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกในกัมพูชา พวกเขาเดินทางไปยังโปแลนด์เพื่อจบหลักสูตรดังกล่าว

อูม ฟามโร รองผู้อำนวยการศูนย์ CMCA อธิบายว่ากัมพูชาได้จัดการกับทุ่นระเบิดและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่ระเบิด อันเป็นผลมาจากสงครามที่สิ้นสุดลงในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 หรือราว 30 ปีที่แล้ว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักเก็บกู้ทุ่นระเบิดชาวกัมพูชาที่มีประสบการณ์ ได้ร่วมทำงานในหลายประเทศทั้งในแอฟริกาและตะวันออกกลาง

ฟามโร ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ โดยชี้ว่า "ยูเครนต้องมีความเชี่ยวชาญ ทั้งเรื่องการฝึกอบรม อุปกรณ์ และการสนับสนุนจากประเทศอื่นเพื่อที่จะแก้ปัญหา เรามองว่าหลังสงครามสิ้นสุดลง พวกเขาจะเผชิญปัญหามากมาย เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของที่นั่น(ยูเครน)แล้ว ผมคิดว่ามันจะเป็นปัญหาใหญ่"

แม้ว่ากัมพูชาจะมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งรัสเซียและจีน อย่างไรก็ดีกัมพูชาได้เข้าร่วมกับเกือบ 100 ประเทศสมาชิกในสหประชาชาติ ในการสนับสนุนมติประณามรัสเซียกรณีการรุกรานยูเครน

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญชาวกัมพูชาได้มีส่วนร่วมในโครงการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุน ทั้งจากภาครัฐและนักพัฒนาชาวญี่ปุ่น

โมโตยูกิ ซาโตะ ผู้พัฒนาเครื่องเก็บกู้ทุ่นระเบิด ALIS คาดว่ายูเครนอาจจะต้องการอุปกรณ์ดังกล่าวจำนวนมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า

ซาโตะ ประเมินว่า "แม้หลังจากสงครามยุติลง ปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดอาจจะดำเนินต่อไปเป็นเวลามากกว่า 10 ปี เพื่อเร่งความเร็วของการเก็บกู้ ผมหวังว่าอุปกรณ์ ALIS จะมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้"

การดูแลความปลอดภัยของดินแดน เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงในระยะยาว หลายประเทศทั้ง สหรัฐฯ เยอรมนี แคนาดา และฝรั่งเศส ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเก็บกู้ทุ่นระเบิดแก่ยูเครน ซึ่งในปีนี้ญี่ปุ่นได้จัดสรรงบ 45 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในประเทศแถบยุโรปตะวันออก

อ้างอิงการประเมินล่าสุด จากองค์การสหประชาชาติ และกระทรวงเศรษฐกิจของยูเครน คาดว่าการกวาดล้างวัตถุอันตรายที่มีอยู่ในยูเครน อาจต้องใช้งบสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์ และใช้เวลานานหลายทศวรรษกว่าที่จะเสร็จสิ้น

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG