โธล ซัมนัง (Thol Samnang) สมาชิกพรรคฝ่ายค้านในกัมพูชาที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ถูกจับกุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และถูกควบคุมตัวอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพฯ ด้านองค์กรประชาสังคมแจง ตม. ระบุว่าจะไม่ส่งชายผู้นี้กลับกัมพูชา
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย วีโอเอไทย ได้รับรายงานที่ระบุว่า โธล ซัมนัง นักกิจกรรมและสมาชิกพรรคแสงเทียน (Candlelight Party) ที่เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านในกัมพูชา ถูกจับกุมเมื่อเช้ามืดวันดังกล่าวที่กรุงเทพฯ ขณะเดินทางจากที่พักไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในไทย ระบุถึงชะตากรรมของเขาผ่านแถลงการณ์ว่า หลังถูกจับกุม โธล ซัมนัง ถูกนำตัวไปสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และถูกส่งต่อไปกักตัวที่สถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่ ซอยสวนพลูในวันต่อมา
แถลงการณ์ร่วมจากเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ และ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ระบุว่ากลุ่มทนายความจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้เข้าเยี่ยมและทราบจากโธล ซัมนัง ในวันเสาร์ที่ผ่านมาว่าเขาต้องการจะขอลี้ภัย และไม่สมัครใจให้ทางการไทยส่งตัวเขากลับไปยังประเทศกัมพูชา ซึ่งทนายความได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ ตม. ทราบและยื่นคำขอตามความประสงค์ของเขา
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้เข้าเยี่ยมโธล ซัมนัง โพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อเย็นวันเสาร์ ตามเวลาในประเทศไทย ระบุว่า หลังพูดคุยกับทนายความแล้ว “สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะไม่ส่งกลับ”
ด้านไชย คิมเขื่อน (Chhay Kimkhoeun) โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติของกัมพูชา ตอบสำนักข่าว CamboJA ในประเทศกัมพูชาในประเด็นการจับกุมโธล ซัมนัง ว่า แค่ดูโพสต์เฟซบุ๊กของเขาก็ทราบแล้วว่าเขาถูกจับกุมเพราะอะไร
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โธล ซัมนังระบุผ่านเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้ประชาชนกัมพูชา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ออกมาแสดงออกทางการเมืองผ่านการเข้าคูหาเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ที่พรรคแสงเทียนถูกตัดสิทธิ์ลงแข่งขันในการเลือกตั้ง เนื่องด้วยปัญหาทางเอกสาร เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
การตัดสิทธิ์พรรคฝ่ายค้านที่ได้รับความนิยมนี้ ทำให้พรรครัฐบาล Cambodian People’s Party (CPP) นำโดยฮุน เซ็น เหลือคู่แข่งเป็นเพียงพรรคเล็กๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ
สื่อ CamboJA ยังรายงานด้วยว่า โธล ซัมนัง เพิ่งหลบหนีออกจากจังหวัดกันดาล ประเทศกัมพูชา เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว แม่ของเขาให้สัมภาษณ์ว่า เขาหลบหนีออกจากประเทศหลังถูกตำรวจมาตามตัวที่บ้าน หลังโพสต์ภาพผู้สนับสนุนพรรค CPP ที่คาดด้วยกากบาทสีแดง
ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 ทำให้ผู้ลี้ภัยในไทยไม่มีสถานภาพในทางกฎหมาย ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ ก็มีกรณีผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านถูกจับกุมหรือสูญหายอย่างไม่ทราบชะตากรรมเกิดขึ้นเป็นระยะ เช่น อ๊อด ไชยวงศ์ นักกิจกรรมชาวลาวที่หายตัวไปเมื่อปี 2019 หรือเจือง ซุย เญิ๊ต (Truong Duy Nhat) นักข่าวชาวเวียดนามที่ถูกลักพาตัวในปีเดียวกัน ก่อนปรากฏตัวอีกครั้งในศาลของประเทศเวียดนาม
- รายงานโดย เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา