ที่การประชุมสุดยอดผู้นำประเทศกลุ่มจี 20 ที่เมืองหางโจวประเทศจีน ตัวแทนจากประเทศต่างๆ เห็นพ้องที่จะให้เกิดการเปิดกว้างด้านการลงทุนและการค้า เพราะปัจจัยดังกล่าวสำคัญต่อความพยายามตู่สู้กับนโยบายปกป้องธุรกิจภายในของบางประเทศ
นอกจากนั้นผู้นำโลกเชื่อว่าการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่ผู้นำประเทศต่างๆ จะดำเนินนโยบายเพื่อการปฏิบัติจริงร่วมกัน เพราะนั่นหมายถึงปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น
ฝ่ายจีนเองซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม ต้องการเห็นการเปิดกว้างด้านการค้าและการลงทุน เพราะการส่งออกสินค้าจากจีนอาจเจอแรงต้านที่มากขึ้นในตลาดประเทศตะวันตก
ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากว่าขณะนี้เกิดกระแสปกป้องธุรกิจภายในประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงการโต้อภิปรายในอังกฤษก่อนหน้านี้ว่า จะต้องการให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรือไม่ จนนำไปสู่การลงประชามติให้ออกจากอียู หรือที่รู้จักกันในชื่อ Brexit
บางส่วนในยุโรปรวมถึงเยอรมนีมีการประท้วงโดยคนงานโรงงานเหล็กที่ไม่มีงานทำ และจีนถูกมองว่าเป็นสาเหตุหลักของการที่คนเหล่านี้ต้องตกงาน
นโยบายปกป้องเศรษฐกิจภายในประเทศยังถูกพูดถึงในสหรัฐฯ ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีขณะนี้อีกด้วย
แรงกดดันจากภาคแรงงานในหลายประเทศทำให้รัฐบาลประเทศเหล่านั้นกล่าวว่า สินค้าภายในของตนโดนสินค้าจากจีนทุ่มตลาด และใช้นโยบายตอบโต้การทุ่มตลาดต่อจีน
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าฝ่ายจีนอาศัยบทบาทเจ้าภาพการประชุม จี 20 ชักจูงให้ประเทศโลกตะวันตกยกเลิกมาตรการลงโทษจีนจากข้อกล่าว่าหาเรื่องการทุ่มตลาด
นักวิเคราะห์ Paul Haenle จากศูนย์ Carnegie-Tsinghua Center for Global Policy ที่กรุงปักกิ่งกล่าวว่า ประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายแห่งทั่วโลกกำลังเผชิญกับกระแสภายในประเทศที่ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ และกระแสเรียกร้องให้ใช้นโยบายปกป้องธุรกิจภายในของประเทศ
เขากล่าวว่าบรรยากาศเหล่านี้สามารถเป็นโอกาสที่ดีของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิงของจีนในการก้าวขึ้นมาแสดงบทบาทผู้นำ
ขณะนี้ผู้นำจีนใกล้ถึงวาระที่ต้องต่อสมัยการบริหารประเทศ และนักวิเคราะห์เห็นว่าเขาน่าจะอยู่ต่ออีกวาระหนึ่งซึ่งจะเป็นการยืดอำนาจไปอีก 5 ปี
นอกจากการสนับสนุนการเปิดกว้างทางการค้าแล้ว จีนกำลังพยายามรณรงค์ให้เกิดความตกลงกรอบใหญ่เพื่อลดข้อตกลงการค้าทวิภาคี
นักวิเคราะห์เชื่อว่าข้อตกลงทวิภาคีของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีมากมายหลายร้อยฉบับกำลังแบ่งแยกการค้าในโลก
อาจารย์ Klaus Meyer ที่สถาบัน CEIBS กล่าวว่า ในเชิงหลักการ นักเศรษฐศาสตร์การค้าส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ข้อตกลงการค้าแบบพหุภาคีมีประโยชน์มากกว่าทวิภาคี
อย่างไรก็ตามปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นด้วยในรายละเอียด และตัวอย่างที่เห็นในระดับองค์การการค้าโลกหรือ WTO ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก
แต่ที่เกิดความตกลงกันแล้วคือการเห็นพ้องต้องกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จะหลีกเลี่ยงสงครามค่าเงิน
แถลงการณ์ของทำเนียบขาวจากกการประชุมจี 20 ที่เมืองหางโจว ชี้ว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนจะหลีกเลี่ยงการแข่งกันทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลง และไม่ตั้งเป้าอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลเพื่อการแข่งขันกัน
คำแถลงจากทำเนียบขาวนี้เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากประธานาธิบดีโอบามาพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง
เอกสารดังกล่าวระบุด้วยว่าจีนจะดำเนินการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นระบบสู่การปล่อยให้ค่าเงินถูกกำหนดโดยกลไกตลาด และทั้งสองประเทศเห็นความสำคัญของการพูดคุยหารือกันในเรื่องนี้อย่างกระจ่างชัด
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ท่าทีนี้ช่วยคลายความกังวลโดยเฉพาะจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ว่าจีนจะลดค่าเงินหยวนเพื่อช่วยกระตุ้นการส่งออกที่กำลังชะลอตัว
(รายงานโดย ห้องข่าววีโอเอและสำนักข่าวต่างประเทศ / เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท)