นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ เผชิญกับแรงกดดันจากสมาชิกสภาพรรคอนุรักษนิยมที่เขาเป็นหัวหน้าพรรค รวมถึงสื่อที่เป็นพันธมิตรกับพรรค ที่ต้องการเห็นการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสขั้นสุดท้ายในวันที่ 21 มิถุนายนนี้
อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสระลอกใหม่ทำให้ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ กดดันให้มีการชะลอการผ่อนคลายมาตรการออกไปเพื่อใช้เวลาศึกษาข้อมูลล่าสุดและเพื่อยืนยันว่า ไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่รวมทั้งไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นไวรัสกลายพันธุ์จากอินเดียที่ระบาดหนักในขณะนี้ จะไม่ต่อต้านฤทธิ์วัคซีน
บรรดารัฐมนตรีของอังกฤษต่างส่งสัญญาณว่า อาจมีการชะลอการผ่อนคลายมาตรการออกไป ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐต่างระบุว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนนั้นเป็นการแข่งขันกับการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลตา
ในขณะเดียวกัน นักธุรกิจต่างไม่พอใจกับสัญญาณชะลอการผ่อนคลายมาตรการควบคุม โดยเมื่อวันพุธ แอนดริว ลอยด์-เว็บเบอร์ ผู้อำนวยการโรงละครแห่งหนึ่ง ยืนยันว่าจะกลับมาเปิดโรงละครของเขาในกรุงลอนดอนในวันที่ 21 มิถุนายน ไม่ว่ารัฐบาลอังกฤษจะเลื่อนการผ่อนคลายมาตรการออกไปหรือไม่ก็ตาม
คณะกรรมการที่ปรึกษาของรัฐบาลอังกฤษระบุว่า เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลตาสามารถระบาดได้ง่ายกว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ที่เคยระบาดหนักในอังกฤษก่อนหน้านี้ อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี
ที่ปรึกษาบางส่วนยังกังวลด้วยว่า ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษอาจรับมือกับการระบาดอีกระลอกไม่ไหว หากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ระบาดหนัก พวกเขายังคาดการณ์ด้วยว่า ผู้ที่มีอาการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอาจมีจำนวนมากเท่ากับยอดสูงสุดที่เคยมีเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
มีผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาในอังกฤษแล้วกว่า 12,000 คน โดยในจำนวนนี้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพบาบาล 126 คน และจากผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น มี 38 คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 28 คนได้รับวัคซีนแล้วหนึ่งโดส และมีเพียงสามคนเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงกลางสัปดาห์ อังกฤษมีผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสใหม่กว่า 6,000 คน และมีจำนวนเพิ่มขึ้น 68 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเจ็ดวันที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ของบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ทำการของรัฐบาลอังกฤษ ระบุว่า คริส วิตตี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษ และแพทริค วาลลานซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ สรุปสถานการณ์ให้นักการเมืองฟังเมื่อวันพุธ โดยระบุว่าข้อมูลล่าสุด “ค่อนข้างน่าหดหู่”
แหล่งข่าวจากรัฐบาลคาดว่า ในวันจันทร์ ผู้นำอังกฤษอาจประกาศเลื่อนผ่อนคลายมาตรการควบคุมออกไปเป็นเวลาสองสัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน อย่างไรก็ตาม พวกเขาคาดว่าผลกระทบทางการเมืองอาจไม่รุนแรงจนเกินไป เนื่องจากมีการผ่อนคลายบางส่วนไปเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้ห้างร้านต่าง ๆ ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดทำการได้
เดิมที รัฐบาลอังกฤษวางแผนยกเลิกการควบคุมต่าง ๆ ในวันที่ 21 มิถุนายน เช่น มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม รักษาระยะห่างระหว่างลูกค้าในร้านอาหารและบาร์อย่างน้อยหนึ่งเมตร การห้ามรวมตัวในที่อยู่อาศัยมากกว่าหกคน อนุญาตให้ไนท์คลับและดิสโกกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง การห้ามมีผู้เข้าร่วมพิธีแต่งงานเกิน 30 คน การกำหนดให้ใส่หน้ากากในที่สาธารณะ นอกจากนี้ รัฐบาลวางแผนยกเลิกแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่ทำงานจากบ้านด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลอังกฤษยังไม่สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อพักผ่อน หลังจากก่อนหน้านี้มีความสับสนจากการสื่อสารของรัฐบาล
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวอังกฤษกว่า 10,000 คนเดินทางกลับมาจากโปรตุเกส ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ชาวอังกฤษสามารถเดินทางไปเยือนและกลับมาอังกฤษได้โดยไม่ต้องกักตัวเป็นเวลาสิบวัน โดยเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลอังกฤษจัดให้โปรตุเกสเป็นหนึ่งในประเทศปลอดภัย ก่อนที่จะนำโปรตุเกสออกจากรายชื่อประเทศดังกล่าวในสัปดาห์นี้
เมื่อวันอังคาร สตีฟ เบเกอร์ อดีตรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยม เตือนให้ผู้นำอังกฤษเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการต่อไป โดยเขากล่าวว่า นี่เป็น “โอกาสสุดท้าย” ที่จะช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการของอังกฤษเอาไว้ได้ และถึงเวลาแล้วที่จะให้ผู้คนกลับไปอยู่กับครอบครัวและเพื่อน รวมถึงฟื้นฟูสภาพจิตใจอีกครั้ง
ประชากรวัยผู้ใหญ่ในอังกฤษครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอังกฤษระบุว่า ประชากรอายุเกิน 50 ปีราวสี่ในห้า และประชากรอายุ 40-49 ปี ราวหนึ่งในสาม ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดส
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนผ่อนคลายมาตรการควบคุมระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนลดลงอย่างมาก พวกเขาเห็นว่า การฉีดวัคซีนพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อัตราการระบาดของไวรัสไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยอย่างรุนแรงของผู้ติดเชื้อ
หนังสือพิมพ์ เดอะ เดลี เทเลกราฟ วิจารณ์ว่า นักวิทยาศาสตร์หมกมุ่นกับการผลักดันให้จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์มากเกินไป และมัวแต่กังวลกับตัวเลขผู้ติดเชื้อซึ่งในที่สุดแล้วไม่ได้นำไปสู่จำนวนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น
สื่อดังกล่าวยังวิจารณ์รัฐบาลอังกฤษด้วยว่า รัฐบาลเชื่อในการปิดพรมแดนจนกว่าอัตราผู้ติดเชื้อทั่วโลกจะลดต่ำลง เนื่องจากกังวลถึงเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับนิวซีแลนด์ที่จะกลายเป็นการปิดประเทศจากโลกภายนอกอย่างไม่มีกำหนด
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังวิจารณ์รัฐบาลอังกฤษว่า ล้มเหลวต่อการรับผิดชอบความเสียหายจากนโยบายล็อกดาวน์