สหภาพยุโรปคาดหวังว่าจะสามารถมีความคืบหน้าในการหารือประเด็นข้อตกลงการค้ากับอังกฤษได้ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยมีส่วนสำคัญที่ต้องพิจารณาคืออนาคตของความสัมพันธ์ทางการค้าและความมั่นคงของทั้งสองฝ่ายจะออกมาในรูปแบบใด หลังจากที่อังกฤษได้แยกตัวออกไปแล้ว
หลังจากที่ผ่านการเจรจามานาน 4 ปี 5 เดือน อังกฤษและสหภาพยุโรปกำลังก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าที่จะช่วยเลี่ยงกำแพงภาษีและอุปสรรคทางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้เกิดผลเสียต่อทั้งสองฝ่ายเมื่อกำหนดการเปลี่ยนผ่านสู่การแยกตัวของอังกฤษอย่างสมบูรณ์สิ้นสุดลง
ทั้งนี้ อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 31 มกราคมปีนี้ แต่ยังคงอยู่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจของอียูจนถึงสิ้นปีนี้ นั่นหมายความว่าหากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถจัดทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ก่อนวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ก็มีโอกาสเกิดความวุ่นวายในการซื้อขายสินค้าข้ามพรมแดนได้ เนื่องจากภาษีและอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ ที่จะมีผลบังคับใช้ทันที
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อียูเกรงว่าการที่อังกฤษจะมีอิสระในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของตนเองซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและนิติบุคคลในสหภาพยุโรป ทางรัฐบาลอังกฤษเองก็มองว่า การแยกตัวหรือ Blexit ครั้งนี้ คือการดึงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและการกำหนดทิศทางของประเทศได้อย่างอิสระกลับคืนมาจากการควบคุมของสหภาพยุโรปเช่นกัน
ลีซานดร้า แฟลช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Ifo Center for International Economics ในเยอรมนี แม้ทั้งอังกฤษและสหภาพยุโรปต่างมีเดิมพันสูงยิ่งในข้อตกลงการค้านี้ แต่เชื่อว่าอังกฤษจะสูญเสียมากกว่าหากไม่สามารถจัดทำข้อตกลงได้ทันตามกำหนด เนื่องจากปัจจุบันอียูคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน กล่าวต่อรัฐสภาก่อนที่จะเดินทางไปร่วมประชุมที่กรุงบรัสเซลล์ว่า “ข้อตกลงที่ดีกำลังรออยู่” แม้ว่ายังมีเงื่อนไขหลายอย่างจากทางสหภาพยุโรปที่อังกฤษยังไม่สามารถยอมรับได้ก็ตาม
นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน เน้นย้ำว่าเศรษฐกิจของอังกฤษจะสามารถเติบโตได้อย่างยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะมีข้อตกลงการค้ากับอียูเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่ดูเหมือนคำกล่าวอ้างนี้จะไม่ตรงกับความเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้ว่าการของธนาคารแห่งชาติของอังกฤษ ที่ต่างเชื่อว่าบริษัทอังกฤษซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 จะสูญเสียอย่างหนักหากไม่มีข้อตกลงกิดขึ้นจริง
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากอังกฤษไม่สามารถจัดทำข้อตกลงการค้ากับอียูได้ มูลค่าผลผลิตมวลรวมของอังกฤษจะลดลงราว 6% ในปีหน้า และจะทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นราว 300,000 คน อ้างอิงจากสำนักตรวจสอบงบประมาณของอังกฤษที่จัดทำรายงานประเมินภาพรวมทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาลกรุงลอนดอน
เมื่อวันอังคาร นายกฯ จอห์นสัน ยอมรับว่าการจัดทำข้อตกลงการค้ากับอียูให้ลุล่วงนั้นเป็นงานที่ไม่ง่ายเลยเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ด้านนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ไมเคิล มาร์ติน กล่าวกับรัฐสภาเมื่อวันพุธเช่นกันว่า ขณะนี้มีโอกาสเพียง 50% ที่สหภาพยุโรปกับอังกฤษจะสามารถเจรจาสำเร็จ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าในที่สุดแล้วนายกรัฐมนตรีจอห์นสันและประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เออร์ชูลา วอน เดอ เลเยน จะสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้หรือไม่
ขณะนี้มีเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ หนึ่งคือสิทธิของชาวยุโรปในการทำประมงในเขตน่านน้ำของอังกฤษ สองคือกฎเกณฑ์กำกับการแข่งขันทางธุรกิจและความช่วยเหลือของรัฐบาลสำหรับบริษัทต่าง ๆ สามคือการจัดการข้อพิพาทระหว่างสหภาพยุโรปกับอังกฤษตามกระบวนการยุติธรรม
จากทั้งสามข้อที่ระบุมา ดูเหมือนข้อสองคือกฎเกณฑ์กำกับการแข่งขันทางธุรกิจและความช่วยเหลือของรัฐบาลสำหรับบริษัทต่าง ๆ จะเป็นส่วนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นต่างกันมากที่สุด เนื่องจากอียูต้องการให้เกิดความมั่นใจว่าบริษัทอังกฤษจะไม่มีความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเหนือคู่แข่งอื่น ๆ ในยุโรป โดยอียูยืนยันให้บริษัทอังกฤษอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดิมของอียู โดยเฉพาะในด้านสิทธิแรงงานและการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม แต่ทางผู้นำอังกฤษยืนยันว่าไม่สามารถรับเงื่อนไขนั้นได้
นักวิเคราะห์เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีจอห์นสันไม่น่าจะยอมโอนอ่อนตามข้อเสนอของอียูโดยง่าย เมื่อพิจารณาจากแรงกดดันจากการเมืองภายในประเทศ เนื่องจากพรรคอนุรักษ์นิยมของเขาต้องการให้อังกฤษใช้แนวทางแข็งกร้าวมากกว่า ดังนั้นหากเขายอมประนีประนอมกับสหภาพยุโรปมากเกินไปก็อาจเผชิญแรงต้านรุนแรงภายในพรรคได้นั่นเอง