ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าป่าฝนเขตร้อนเเห่งเกาะบอร์เนียวได้ลดพื้นที่ลงอย่างรวดเร็วโดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ของป่าที่หายไปเทียบได้เกือบเท่ากับขนาดของประเทศซีเรียทั้งประเทศ
หลายคนชี้ว่าสาเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าบนเกาะบอร์เนียว มาจากการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกต้นปาล์มน้ำมันที่ในปัจจุบันกินพื้นที่ราว 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกาะทั้งหมด 74 ล้าน 3 เเสนตารางเฮคเเตร์
แต่ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ที่ต้องการพิสูจน์สาเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าอย่างรวดเร็ว พบว่าเเม้ว่าอุตสาหกรรมการปลูกปาล์มน้ำมันจะเป็นสาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่งของการทำลายป่าบนเกาะบอร์เนียว จุดที่ตั้งของพื้นที่ป่ากลับมีบทบาทในปัญหานี้มากกว่า
ทีมนักวิจัยศึกษาภาพถ่ายทางดาวเทียมที่บันทึกเอาไว้ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา และสรุปว่า ในขณะที่อุตสาหกรรมปลูกปาล์มน้ำมันเป็นต้นเหตุของการทำลายพื้นที่ป่าของเกาะบอร์เนียวในส่วนที่ตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย ที่มีพื้นที่รวม 26 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด
แต่กลับสร้างปัญหาเดียวกันนี้น้อยกว่าในพื้นที่ป่าส่วนที่ตั้งอยู่ในอินโดนีเซีย ที่เรียกว่า Kalimantan ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 73 เปอร์เซ็นต์ของป่าบนเกาะนี้ทั้งหมด และอีก 1 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าบนเกาะบอร์เนียวเป็นของประเทศบรูไน
ทีมนักวิจัยระบุในรายงานว่า ผลการศึกษาของพวกเขาชี้ให้เห็นถึงบทบาทของการปลูกปาล์มน้ำมันต่อการทำลายป่า ว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพืชประเภทใด แต่ขึ้นอยู่กับว่าปลูกในจุดใด
ทีมนักวิจัยได้ศึกษาว่าการปลูกพืชอุตสาหกรรมเป็นต้นเหตุ หรือเป็นผลของการสูญเสียพื้นที่ป่าบนเกาะบอร์เนียว และพวกเขาบอกว่าไม่แปลกใจเลยที่พบว่าการปลูกพืชอุตสาหกรรมเป็นทั้งต้นเหตุและเป็นทั้งผลสืบเนื่อง
เพียงเเต่แตกต่างกันไป เเล้วเเต่ว่าปลูกในประเทศใดและในช่วงใด?
ทีมนักวิจัยสรุปว่า หากมีการปลูกพืชอุตสาหกรรมภายในห้าปีที่พื้นที่ป่าถูกแผ้วถางลง ก็เป็นไปได้ว่าเจ้าของสวนปาล์มเป็นผู้แผ้วถางป่าเพื่อปลูกพืช แต่หากพื้นที่ป่าที่ถูกแผ้วถางถูกทิ้งไม่มีการปลูกฟืชใดๆ เป็นเวลานาน ก็เป็นไปได้ว่าพื้นที่ป่าดังกล่าวถูกแผ้วถางจากเหตุธรรมชาติหรือจากไฟป่า
David Gaveau หัวหน้าผู้ร่างรายงานผลการศึกษากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า หากมีพื้นที่ป่าจุดใดจุดหนึ่งถูกแผ้วถาง หากปล่อยทิ้งเอาไว้โดยไม่ปลูกอะไร จะมีชุมชนหรือบริษัทเข้าไปใช้ที่ดินจุดนั้น ดังนั้นบริษัทต่างๆ จะไม่ถางป่าทิ้งไว้ล่วงหน้านานๆ เพราะหากไม่ปลูกพืชอะไรในที่ดินทันที ก็มีโอกาสถูกเเย่งที่ดินไปใช้
ในมาเลเซีย พื้นที่ป่าที่ถูกแผ้วถางจะกลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วราว 57-60 เปอร์เซ็นต์ แต่ในอินโดนีเซีย พื้นที่ป่าที่ถูกทำลายลงจะกลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมเพียง 15-16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งทีมนักวิจัยเชื่อว่าอาจเกิดจากการที่อินโดนีเซียมีพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายใช้ในการเพาะปลูกมากกว่าในมาเลเซีย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แห้งและการเผาป่าซ้ำๆ
อย่างไรก็ดีทีมนักวิจัยพบว่า เเม้ว่าจะมีการใช้ที่ดินที่เสื่อมคุณภาพมากขึ้นใน Kalimantan อินโดนีเซีย การตัดไม้ทำลายป่าที่นั่นกลับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย
หัวหน้าผู้ร่างรายงานผลการศึกษากล่าวว่า ความฝันของอินโดนีเซียที่จะกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก กับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในปี ค.ศ. 2005 เป็นปัจจัยสำคัญสองอย่างที่ทำให้มีการทำลายป่าเพิ่มขึ้น
(รายงานโดย Cory Rogers / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว )