ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปธน.ไบเดน ประกาศยืนยันการตัดสินใจถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน


Biden US Afghanistan
Biden US Afghanistan

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยืนยันจุดยืนการเดินหน้าถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน ในระหว่างการแถลงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กลุ่มตาลิบันเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกรุงคาบูลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ในการแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศในวันจันทร์ ปธน.ไบเดน กล่าวว่า ภารกิจของกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานนั้น “ไม่เคยเป็นเรื่องของการช่วยสร้างชาติ” และกล่าวว่า ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่นำพาให้ทหารสหรัฐฯ ต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศนี้ กลับขยายผลเป็นวงกว้างออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียงด้วย

ผู้นำสหรัฐฯ ยังยอมรับด้วยว่า การที่กลุ่มตาลิบันมีชัยชนะในการยึดพื้นที่ต่างๆ ทั่วอัฟกานิสถานนั้น เกิดขึ้น “อย่างเงียงสงบกว่าที่คาดไว้” พร้อมย้ำว่า การสั่งการให้ทหารสหรัฐฯ เข้าสู้รบในกรณีนี้เป็นสิ่งที่ผิด เพราะแม้แต่กองกำลังอัฟกันเองยังไม่คิดจะจับอาวุธขึ้นมาสู้ด้วยซ้ำ

กองกำลังสหรัฐฯ ได้เข้าไปประจำการในอัฟกานิสถานเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 คน จนกระทั่ง ปธน.ไบเดน ประกาศเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า จะเริ่มถอนกำลังกลับภายในสิ้นเดือนสิงหาคม โดยไม่สนใจคำแนะนำของเพนตากอนให้คงกองกำลังบางส่วนไว้ด้วย

ในวันจันทร์ สมาชิกกลุ่มกบฏตาลิบันออกตระเวนพื้นที่รอบกรุงคาบูล หลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี อัชราฟ กานี สำเร็จเมื่อ 24 ชั่วโมงก่อนหน้า ขณะที่ พลเรือนชาวอัฟกันนับพันพากันไปยังสนามบินเพื่อหาทางออกนอกประเทศ เพราะความกลัวว่า การกลับมาคืนสู่อำนาจของกลุ่มกบฏนี้จะทำให้การเดินทางออกนอกอัฟกานิสถานเป็นไปได้ยาก ก่อนที่ การบินพลเรือนอัฟกานิสถานออกแถลงการณ์ในช่วงเช้าวันจันทร์ว่า พื้นที่สนามบินสำหรับพลเรือน “ถูกปิดไปอย่างไม่มีกำหนดเปิด” แล้ว

และในระหว่างการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินัดฉุกเฉินในวันจันทร์ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อันโตนิโอ กูเทอเรซ กล่าวว่า “ทั่วทั้งโลกกำลังจับตาดู” สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้ พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มตาลิบัน “ใช้ความยับยั้งชั่งใจให้มากที่สุด” เพื่อปกป้องชีวิตของชาวอัฟกันและเปิดทางให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปสู่ผู้ที่เดือดร้อนได้

Afghanistan's U.N. ambassador Ghulam Isaczai is seen on a monitor in a translators booth as the United Nations Security Council meets regarding the situation in Afghanistan at the United Nations in New York City, New York, Aug. 16, 2021.
Afghanistan's U.N. ambassador Ghulam Isaczai is seen on a monitor in a translators booth as the United Nations Security Council meets regarding the situation in Afghanistan at the United Nations in New York City, New York, Aug. 16, 2021.

รายงานข่าวระบุว่า ประชาขนราว 18 ล้านคนในอัฟกานิสถาน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศนี้ อยู่ในภาวะยากแค้นและต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ก่อนที่จะเกิดการยึดอำนาจของตาลิบันเสียอีก และสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นยิ่งทำให้เกิดความกลัวว่า อาจจะเกิดหายนะวิกฤตด้านมนุษยธรรมขึ้นได้ในไม่ช้า

ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง 15 ประเทศ ออกแถลงการณ์ร่วมกันที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการต่อสู้ทั้งหมด และให้มีการจัดตั้ง “รัฐบาลชุดใหม่ ที่มาจากการพูดคุยเจรจาที่เปิดทางให้ทุกฝ่ายเข้ามีส่วนร่วม เพื่อให้ได้ฝ่ายปกครองที่มีความสามัคคี ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม และเป็นเป็นตัวแทนของทุกฝ่าย อันรวมถึงการมีสมาชิกเป็นผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญและเท่าเทียมกันด้วย”

อย่างไรก็ตาม รัสเซีย และ จีน แสดงท่าทีที่มีลักษณะไม่กดดันตาลิบันมากนัก โดย วาสสิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำองค์การสหประชาชาติกว่าว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นตระหนก” และ “จุดสำคัญก็คือ ทุกฝ่ายต้องหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือดในกลุ่มพลเรือนให้ได้” ขณะที่ เกิง ช่วง อุปทูตจีนประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวต่อที่ประชุมว่า “สถานการณ์ในอัฟกานิสถานนั้นกำลังก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอยู่” และว่า จีนขอเคารพต่อจิตวิญญาณและทางเลือกของประชาชนชาวอัฟกัน

(ข้อมูลบางส่วนมาจาก สำนักข่าว เอพี และ เอเอฟพี)

XS
SM
MD
LG