ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่เมื่อเย็นวันพุธ เพื่อปกป้องสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งและการดูแลด้านสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นความพยายามล่าสุดในการต่อสู้กับคำตัดสินของศาลสูงสหรัฐฯ ที่คว่ำสิทธิการทำแท้งเสรีของสตรีชาวอเมริกันที่ใช้มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1973
การลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในหลายรัฐได้เข้าคูหาเพื่อเลือกตั้งขั้นต้นก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน และบางรัฐมีการลงประชามติเรื่องสิทธิในการทำแท้งในรัฐนั้น ๆ พ่วงไปด้วย
โดยคำตัดสินดังกล่าวของศาลสูงส่งผลให้รัฐต่าง ๆ มีอิสระในการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการทำแท้งในรัฐนั้น ๆ เองตามความเหมาะสม
ที่รัฐแคนซัส เมื่อวันอังคาร ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ลงคะแนนเสียงให้รักษาสิทธิในการทำแท้งภายในรัฐนั้นไว้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนอเมริกันมีโอกาสออกเสียงในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิการทำแท้ง นับตั้งแต่ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำตัดสินดังกล่าวเมื่อเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม 13 รัฐได้ตัดสินใจใช้กฎหมายห้ามการทำแท้งแล้วหลังคำตัดสินของศาลสูง แม้แต่ในกรณีที่ผู้ทำแท้งถูกข่มขืนหรือการตั้งครรภ์จากผู้ที่มีพันธุกรรมใกล้ชิดกันก็ตาม
ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อีก 4 รัฐ คือ แคลิฟอร์เนีย เคนทักกี มิชิแกน และเวอร์มอนต์ จะลงประชามติในกฎหมายนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ คำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่ที่ปธน.เพิ่งลงนาม จะช่วยรับประกันสิทธิของสตรีที่ต้องการเดินทางไปรัฐอื่นเพื่อทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย โดยก่อนการลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันพุธ ปธน.ไบเดน กล่าวว่า "แม้แต่ชีวิตของผู้ที่ตั้งครรภ์ก็อาจตกอยู่ในความเสี่ยงในบางกรณีและในบางรัฐ"
นับเป็นคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับที่สองเกี่ยวกับสิทธิการทำแท้งของสตรีอเมริกันที่ปธน.ไบเดน ได้ลงนามไว้ นับตั้งแต่ศาลสูงมีคำตัดสินออกมา โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ไบเดนได้ลงนามในคำสั่งฉบับแรกที่รับรองสิทธิในการเข้าถึงการคุมกำเนิดฉุกเฉินและการรักษาสืบเนื่องจากการทำแท้ง
"สมาชิกรีพับลิกันในคองเกรสที่มีแนวคิดขวาสุดโต่งแบบ MAGA (Make America Great Again) พยายามคว่ำสิทธิการทำแท้งทั่วประเทศเพื่อทำให้การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในทุกรัฐ ทุกกรณี แต่การต่อสู้ยังไม่จบ ดังที่เราได้เห็นแล้วที่รัฐแคนซัส"
เมื่อวันอังคาร ชาวรัฐแคนซัสลงคะแนนเสียงเกือบ 59% คัดค้านข้อเสนอให้ปรับแก้รัฐธรรมนูญของรัฐเพื่อให้ถอดถอนการปกป้องสิทธิการทำแท้งออกไป ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักวิจัย พิว (Pew) ที่ชี้ว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ในอเมริการาว 61% ระบุว่า การทำแท้งไม่ควรเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี ชี้ว่า 91% ของการทำแท้งในอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนทารกมีอายุไม่ถึง 13 สัปดาห์ ขณะที่ผลวิจัยของ Kaiser Family Foundation พบว่า การทำแท้งเมื่อทารกมีอายุมากกว่า 21 สัปดาห์นั้น มีอัตราส่วนไม่ถึง 1% ของการทำแท้งทั้งหมดในสหรัฐฯ
- ที่มา: วีโอเอ