ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เจอบททดสอบใหม่ ในการสะท้อนความหลากหลายของสังคมอเมริกันผ่านคณะทำงานในรัฐบาลของเขา นั่นคือ การแต่งตั้งนักการทูต ซึ่งปธน.ไบเดน ต้องชั่งตวงวัดระหว่างความเห็นชอบจากพันธมิตรหลักทางการเมืองรวมทั้งผู้สนับสนุนของเขา กับการยืนหยัดในเจตนารมณ์ที่จะแต่งตั้งทูตที่สะท้อนคุณค่าความเป็นอเมริกันให้ได้มากที่สุด
เป็นเวลากว่า 3 เดือนที่คณะทำงานของประธานาธิบดีไบเดนได้เข้ามาบริหารประเทศ แต่ผู้นำสหรัฐฯ ได้เสนอชื่อทูตเพียง 11 คน จาก 80 คนทั่วโลก ซึ่งทางคณะทำงานของประธานาธิบดีไบเดน ระบุในสัปดาห์นี้ว่า ผู้นำสหรัฐฯ พร้อมที่จะเดินหน้าการแต่งตั้งทูตเพิ่มเติม ก่อนที่ปธน.ไบเดน จะเริ่มภารกิจเยือนต่างประเทศ และหันไปให้ความสนใจกับบทบาทสหรัฐฯ ในการต่อสู้กับโควิด-19 ในระดับโลก
ในการแต่งตั้งทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศต่างๆ มักเป็นการตอบแทนพันธมิตรทางการเมืองและผู้สนับสนุนประธานาธิบดีในยุคสมัยนั้นๆ ถ้าย้อนกลับไปในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พบว่า 44% ของการแต่งตั้งทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศต่างๆ มาจากบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อเทียบกับ 31% ในยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และ 32% ในยุคของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตามข้อมูลจาก American Foreign Service Association
แต่ในยุคของประธานาธิบดีไบเดน ที่มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและที่ปรึกษาระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา เป็นตัวแทนที่การสะท้อนถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติพื้นเพที่มีในสังคมอเมริกันมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา และจากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ในคณะทำงานของปธน.ไบเดน ที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งตั้งบุคคลทางการเมือง ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ ระบุว่า ปธน.ไบเดน ตั้งเป้าว่าจะคงระดับบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งด้วยเหตุผลทางการเมืองในตำแหน่งดังกล่าว ที่ราว 30%
โฆษกหญิงประจำทำเนียบขาว เจน ซากี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในสัปดาห์นี้ว่า ปธน.ไบเดน ต้องการทำให้แน่ใจว่าผู้ที่เขาคัดสรรไปนั้นจะเป็นตัวแทนของเขาได้ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ แต่หมายถึงในระดับโลก ที่สะท้อนคุณค่าของความหลากหลายทางเชื้อชาติพื้นเพในอเมริกา
ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งด้วยเหตุผลทางการเมืองส่วนใหญ่ จะมาจากกลุ่มผู้บริจาคสนับสนุนพรรคการเมืองรายใหญ่ของผู้นำสหรัฐฯในยุคนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชายผิวขาว ซึ่งไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯได้เท่าไรนัก และบางครั้งคนกลุ่มนี้อาจสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับประธานาธิบดีสหรัฐฯได้อีกทางหนึ่งด้วย
ในปี 2014 ทาง American Foreign Service Association ออกมาเรียกร้องให้มีการออกระเบียบแนวทางใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าทูตที่ได้รับการแต่งตั้งมามีคุณสมบัติในตำแหน่งสำคัญนี้ หลังจากที่ในยุคของอดีตปธน.โอบามา ที่มีอย่างน้อย 3 คนที่อดีตปธน.โอบามาแต่งตั้งขึ้นมารับตำแหน่งทูตประจำนอร์เวย์ อาร์เจนตินา และไอซ์แลนด์ เปิดเผยระหว่างการขึ้นให้ข้อมูลต่อสภาสหรัฐฯว่า พวกเขาไม่เคยเดินทางไปเยือนประเทศที่จะต้องไปรับตำแหน่งทูตมาก่อนเลย
และในกรณีล่าสุดของอดีตทูตกอร์ดอน ซอนด์แลนด์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหภาพยุโรป ในยุคของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ทูตซอนด์แลนด์ผู้นี้บริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับงานฉลองพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่งของทรัมป์ ก่อนที่ทรัมป์จะแต่งตั้งเขาเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำอียูในเวลาต่อมา ทว่าทูตซอนด์แลนด์ผู้นี้ กลับกลายเป็นตัวละครสำคัญกรณีไต่สวนถอดถอน ปธน.ทรัมป์ครั้งแรก จากที่เขาขึ้นให้ข้อมูลว่ามีการตกลงแบบมีเงื่อนไขระหว่างอดีตปธน.ทรัมป์กับผู้นำยูเครนจริง เพื่อให้เปิดการสืบสวน ปธน.ไบเดน คู่แข่งทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ในตอนนั้น
จนถึงตอนนี้นักการทูต 11 คนที่ปธน.ไบเดนแต่งตั้ง อาทิ ทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชาวแอฟริกันอเมริกัน ขณะที่อีก 9 คนที่เหลือต่างมีประสบการณ์ในฐานะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อยู่ก่อนแล้ว และเวลาก็งวดลงทุกทีก่อนที่ปธน.ไบเดนมีกำหนดการจะเยือนต่างประเทศครั้งแรกในฐานะผู้นำสหรัฐฯ ในเดือนหน้า แต่ทางทำเนียบขาวยังเลี่ยงที่จะเปิดเผยถึงผู้ได้รับการเสนอชื่อรายอื่นๆ
ข้อมูลจาก Leadership Council for Women in National Security ระบุว่า นักการทูต 104 ตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่ในตอนนี้ ราว 39 คนเป็นผู้หญิง 10 คนเป็นคนที่มีเชื้อชาติสีผิวที่หลากหลาย และบรรดาอดีตนักการทูตหญิงสหรัฐฯกว่า 30 คน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงปธน.ไบเดน เรียกร้องให้ปธน.ไบเดนให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศสภาพ ในการคัดสรรบุคคลเข้ารับตำแหน่งทางการทูตมากขึ้นเช่นกัน
ในระหว่างที่ไบเดน ยังเป็นผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯเมื่อปีก่อน เขาได้กล่าวว่าจะเลือกคนที่ “เหมาะสมที่สุด” สำหรับแต่ละตำแหน่งที่เลือกสรรเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ แต่เลี่ยงที่จะตอบว่าจะแต่งตั้งบุคคลที่เป็นกลุ่มผู้บริจาคสนับสนุนพรรคการเมืองรายใหญ่ในตำแหน่งนักการทูตในสัดส่วนเท่าใด
ส่วนประเด็นเรื่องการแต่งตั้งตำแหน่งในกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ มี เนด ไพรซ์ รับตำแหน่งโฆษกกระทรวงต่างประเทศคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันที่ยอมรับว่าเป็นเกย์อย่างเปิดเผย และรองโฆษกจาลินา พอร์เตอร์ ก็เป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ด้วยเช่นกัน
ในประเด็นนี้ ทางประธาน American Academy of Diplomacy มองว่า คณะทำงานของปธน.ไบเดน สามารถหาสมดุลระหว่างบุคคลที่มีประสบการณ์ กับผู้ที่ประสบความสำเร็จในฐานะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ประวัติภูมิหลังอันหลากหลาย แต่การแต่งตั้งบุคคลทางการเมืองจากกลุ่มผู้บริจาคสนับสนุนพรรคการเมืองอาจมีความท้าทายกับไบเดนในการเฟ้นหาคนที่เหมาะสมและสะท้อนความหลากหลายของสังคมอเมริกัน
(เรียบเรียงบทความโดย นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ)