ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เดินทางเยือนมิชิแกน ซึ่งมีการประท้วงของสหภาพแรงงานยานยนต์อเมริกัน โดยออกโรงสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าแรง 40% และว่าพนักงานในสหภาพสมควรได้รับ “มากกว่า” ที่พวกเขาเรียกร้อง
ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางเยือนเบลวิลล์ มิชิแกน ซึ่งเป็นศูนย์จัดส่งชิ้นส่วนของบริษัทรถยนต์รายใหญ่ General Motors โดยปธน.ไบเดน ยังทักทายและถ่ายเซลฟีกับฝูงชนที่มาเดินขบวน พร้อมทั้งกล่าวกับผู้ประท้วงด้านหน้าศูนย์ดังกล่าวว่า “บริษัทต่างเผชิญกับความยากลำบากมาก่อน ตอนนี้พวกกำลังไปได้ดี และพวกคุณควรที่จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน”
ด้านชอว์น เฟน ประธานสหภาพแรงงานยานยนต์ กล่าวในวันอังคารว่า “ขอขอบคุณประธานาธิบดีที่มาเพื่อยืนหยัดเคียงข้างพวกเรา” และว่า “เรารู้ว่าประธานาธิบดีจะทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อชนชั้นแรงงาน”
การปรากฎตัวของปธน.ไบเดน ทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกในยุคสมัยปัจจุบัน ที่เดินทางไปพบปะกับแรงงานที่ประท้วง นักประวัติศาสตร์ระบุว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 1902 อดีตประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลท์ เคยเทียบเชิญแรงงานเหมืองถ่านหินที่รวมตัวประท้วงให้มาเยือนทำเนียบขาวเพื่อแสดงการสนับสนุนแรงงานกลุ่มนี้
ขณะที่การเยือนมิชิแกนของปธน.ไบเดน เกิดขึ้น 1 วันก่อนที่อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ หนึ่งในตัวเต็งชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน จะมีกำหนดการขึ้นกล่าวกับคนงานภาคยานยนต์ที่มิชิแกนเช่นกัน
ฝั่งอดีตปธน.ทรัมป์จะขึ้นกล่าวกับแรงงานโรงงานซึ่งไม่ได้อยู่ในสหภาพ ที่ชานเมืองดีทรอยต์ในวันพุธ โดยสหภาพระบุว่าจะไม่ไปร่วมงานของอดีตปธน.ทรัมป์ และไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเดินทางเยือนมิชิแกนของอดีตผู้นำสหรัฐฯ ด้วย
ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันต่างเชื่อว่าการผลักดันการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของปธน.ไบเดน ด้วยการอัดฉีดเงินสนับสนุนหลายพันล้านดอลลาร์ ในแง่ของมาตรการคืนภาษีรถยนต์ให้กับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นนโยบายที่ไม่ได้รับความนิยมในหมู่แรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์
ในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร อดีตปธน.ทรัมป์ กล่าวหาปธน.ไบเดนว่ากำลัง “แทงข้างหลัง” แรงงานยานยนต์ และนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าจะ “ทำลายล้าง” อุตสาหกรรมยานยนต์อเมริกัน และทำให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมยานยนต์นับพันตำแหน่ง
กิจกรรมการเคลื่อนไหวของผู้นำและอดีตผู้นำสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นแบบติดต่อกันเช่นนี้ สะท้อนถึงความสำคัญของกลุ่มสหภาพแรงงาน ต่อศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 แม้ว่าสหภาพต่าง ๆ ในอเมริกาจะมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานอเมริกันโดยรวม
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น