ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ไบเดน’ ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตจากมะเร็งลงครึ่งหนึ่งภายใน 25 ปีข้างหน้า


President Joe Biden speaks during a "cancer moonshot," event in the East Room of the White House, Feb. 2, 2022, in Washington.
President Joe Biden speaks during a "cancer moonshot," event in the East Room of the White House, Feb. 2, 2022, in Washington.

คณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันพุธว่า ได้ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลงให้ได้อย่างน้อย 50% ในช่วง 25 ปีจากนี้ ซึ่งนับเป็นการสานต่อนโยบาย Cancer Moonshot ที่เริ่มต้นไว้เมื่อปี 2016 ในยุคอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และไบเดน ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในยุคนั้นเป็นผู้รับผิดชอบแผนงานดังกล่าว

ประธานาธิบดีไบเดน กล่าวที่ทำเนียบขาวเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวว่า นี่คือแผนที่ใหญ่และทะเยอทะยาน แต่สามารถทำได้จริง และว่าแผนการลดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในครั้งนี้ จะช่วยทำให้โรคมะเร็งซึ่งเคยเหมือนกับคำพิพากษาประหารชีวิต กลายเป็นเพียงโรคเรื้อรังที่ผู้คนสามารถดำรงชีวิตร่วมกับโรคนี้ได้ อีกทั้งยังจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ช่วยเหลือเกื้อหนุนผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยมะเร็งด้วย

ผู้นำสหรัฐฯ ได้ใช้เวทีนี้ ขอให้ชาวอเมริกันเข้ารับการตรวจหาโรคมะเร็ง โดยระบุว่า ชาวอเมริกันเข้ารับการตรวจหาโรคมะเร็งลดลงราว 9 ล้านครั้งในช่วงการระบาดของโควิด-19

ภายใต้แผนการดังกล่าว ปธน.ไบเดน ระบุว่า ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านมะเร็ง ให้ทำหน้าที่ประสานงานและกำหนดแนวทางการทำงานของรัฐบาลกลางในการจัดการกับโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ทั้งยังเรียกร้องให้สภาคองเกรส จัดสรรงบประมาณ 6,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการศึกษาวิจัยด้านโรคมะเร็ง ภายใต้หน่วยงานใหม่ที่ชื่อว่า Advanced Research Projects Agency for Health ด้วย

ปธน.ไบเดน กล่าวย้ำว่า นี่จะเป็นความร่วมมือระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน และจะนำพาอเมริกาและนานาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

สำหรับปธน.ไบเดนแล้ว การต่อสู้กับโรคมะเร็งนั้น ถือเป็นประเด็นที่ใกล้ตัวกับเขามาก จากการที่ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ได้สูญเสียบุตรชายคนโต โบ ไบเดน ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งสมองเมื่อปี 2015 และความสูญเสียบุคคลในครอบครัวของผู้นำสหรัฐฯ นี้ ก็ไม่ต่างจากชาวอเมริกันโดยทั่วไป ตามข้อมูลของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) ที่ประเมินว่า ในปีนี้จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากกว่า 609,000 ราย และจะพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 1.9 ล้านราย

คณะทำงานของปธน.ไบเดน ตั้งเป้าหมายที่จะรักษาชีวิตผู้คนให้ได้มากกว่า 300,000 คนต่อปีจากโรคมะเร็งนี้ด้วยเช่นกัน

ด้านรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ได้กล่าวในเวทีนี้ด้วยว่า มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่เอาชนะโรคมะเร็งได้ และหลายคนสามารถรับมือกับโรคมะเร็งได้หลังการตรวจวินิจฉัยได้ทันท่วงที โดยได้หยิบยกเรื่องราวของเธอเองที่เอาชนะโรคมะเร็งเต้านมมาได้ ขณะที่มารดาของเธอซึ่งเป็นนักวิจัยด้านโรคมะเร็งเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อปี 2009

ดร.แคเรน อี นัดเซน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ American Cancer Society เปิดเผยกับวีโอเอว่า การเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของผู้คนทั่วโลกลดลง 32% มาตั้งแต่ช่วงปี 1991 แต่ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตจะเป็นดัชนีบ่งชี้ที่สำคัญ นัดเซนได้ชี้ว่า มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งบางชนิดเพิ่มขึ้น จากทั้งหมด 200 ชนิดที่ได้รับการค้นพบ ซึ่งรวมถึงมะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมากที่แพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายในระยะเริ่มแรก ซึ่งทั้งหมดนี้ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและวางกลยุทธ์ในการรับมือและป้องกัน

โดยความสำเร็จที่แท้จริงในมุมมองของ American Cancer Society คือ การลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง และการค้นพบวิธีในการรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของปธน.ไบเดน ไม่ได้ประกาศงบประมาณใหม่สำหรับเป้าหมายดังกล่าว โดยเมื่อปี 2016 โครงการ Cancer Moonshot ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสภาคองเกรสราว 1,800 ล้านดอลลาร์ในกรอบระยะเวลา 7 ปี และมีงบประมาณราว 400 ล้านดอลลาร์ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรออกไป ซึ่งทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute) ผู้ดูแลโครงการดังกล่าว มีเป้าหมายในการผลักดันการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคมะเร็ง ส่งเสริมความร่วมมือและปรับปรุงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านโรคมะเร็งให้มากขึ้น

ความเหลื่อมล้ำในการป้องกันโรคมะเร็ง

นัดเซน และผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ ต่างเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านโรคมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญในสหรัฐฯ

พญ.เดบ แชร็ก จาก Memorial Sloan Kettering Cancer Center ในนครนิวยอร์ก ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า ปัจจุบันในสหรัฐฯ มีวัคซีนที่ใช้ได้ผลในการป้องกันโรคมะเร็งบางชนิด อย่างเช่นมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งในช่องปากและลำคอ ในขณะที่มะเร็งชนิดอื่นๆ จำเป็นต้องพึ่งพาการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ขณะนี้ เรากำลังทิ้งผู้คนและบางชุมชนเอาไว้เบื้องหลังในเรื่องนี้ และเพื่อให้เป้าหมายของปธน.ไบเดนเรื่องการลดการเสียชีวิตจากมะเร็งบรรลุผล จึงจำเป็นต้องมุ่งความสนใจไปที่ความยุติธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการป้องกันและรักษามะเร็งต่อไป

ด้าน นพ.โอทิส บรอวลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งจาก Johns Hopkins Sidney Kimmel Comprehensive Cancer Center ในนครบัลติมอร์ ให้ข้อมูลกับวีโอเอด้วยว่า หากสามารถให้ข้อมูลด้านการรักษาและป้องกันมะเร็งกับประชาชนได้ จะช่วยลดการเสียชีวิตจากมะเร็งได้ราว 25% จากตัวเลขผู้เสียชีวิตจากมะเร็งในปัจจุบัน

โดยข้อมูลของ American Cancer Society ชี้ว่า การสูบบุหรี่ คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดของสาเหตุการป่วยและการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ตามมาด้วยปัจจัยเรื่องน้ำหนักตัวเกินปกติ และการดื่มแอลกอฮอลล์ ซึ่งล้วนสะท้อนว่าผู้คนเสียชีวิตจากมะเร็งเพียงเพราะพวกเขาไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพที่เพียงพอ

ส่วนประเด็นเรื่องการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น โรเบิร์ต เค บราวน์ ผู้ที่ต่อสู้กับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในช่วงวัย 20 ต้นๆ และเปิดเผยเส้นทางการรับมือกับโรคมะเร็งนี้ในหนังสือ Hundred Percent Chance บอกว่า การตรวจหามะเร็งไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเข้าถึงระบบสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับบางคน นี่คือการก้าวผ่านความเชื่อที่ว่าตัวเองเป็นคนร่างกายแข็งแรง และไม่จำเป็นต้องตรวจหาโรคต่างๆ ด้วย

บราวน์ ผู้เอาชนะโรคมะเร็งมาได้กว่า 30 ปี เปิดเผยกับวีโอเอว่า เขากำลังเตรียมงานศพให้กับลุงที่เสียชีวิตจากมะเร็งหลอดอาหารเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ โดยยอมรับว่าลุงของเขาจากไปอย่างรวดเร็วจากสิ่งที่เราคิดว่าสามารถรักษาได้หากตรวจพบเร็วกว่านี้ และนั่นคือสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังมาหลายต่อหลายครั้งจากผู้ป่วยมะเร็ง

ผลกระทบจากโควิดกับโรคมะเร็ง

ส่วนผลกระทบจากโควิดต่อโรคมะเร็ง นัดเซน จาก American Cancer Society เพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยมะเร็ง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยเฉพาะกับคนที่ไม่สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็ง และเมื่อใดก็ตามที่โควิดระบาด จะมีระดับการตรวจหาโรคมะเร็งลดลง ซึ่งนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยโรคที่ล่าช้า เป็นผลให้ผู้ป่วยมะเร็งมีอาการที่รุนแรงขึ้นและยากต่อการรักษา

ดร.นัดเซน หวังว่า โครงการริเริ่มของปธน.ไบเดน จะส่งผลต่อผู้คนนอกเหนือจากในสหรัฐฯ และจะสามารถช่วยเชื่อมต่อให้เกิดชุมชนวิชาการด้านมะเร็งที่ใหญ่ขึ้นและในระดับสากลมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่ต้องการองค์ความรู้ด้านมะเร็งจากสหรัฐฯ และแลกเปลี่ยนความสำเร็จด้านมะเร็งกับสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

XS
SM
MD
LG