ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดนและผู้นำโลกคนอื่นๆ จาก 17 ประเทศ รวมถึงไทย เรียกร้องให้กลุ่มฮามาสยอมรับข้อเสนอหยุดยิงและปล่อยตัวประกันโดยทันที
อย่างไรก็ตาม กลุ่มติดอาวุธนี้กล่าวว่าจะไม่อ่อนข้อต่อแรงกดดันจากนานาชาติ
แถลงการณ์จากทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อเสนอต่อฮามาส "จะนำมาซึ่งการหยุดยิงที่ยาวนานและจะเกิดขึ้นทันทีในกาซ่า โดยจะสามารถช่วยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมีเพิ่มมากขึ้น ผ่านเข้าไปยังกาซ่าพร้อมทั้งจะนำไปสู่แนวทางที่เชื่อได้ว่าจะยุติความรุนเเรง"
"ชาวกาซ่าจะสามารถกลับไปยังบ้านของพวกเขาและแผ่นดินของพวกเขา ด้วยการเตรียมการล่วงหน้า เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขด้านที่พักพิงและมนุษยธรรม" แถลงการณ์ระบุ
นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ยังมีผู้นำของประเทศ ไทย อาร์เจนตินา ออสเตรีย บราซิล บัลแกเรีย แคนาดา โคลอมเบีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย เซอร์เบีย สเปน และอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม ฮามาสปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว โดยเงื่อนไขของการหยุดยิงประกอบด้วย การปล่อยตัวประกันที่เป็นสตรี คนชราที่บาดเจ็บ และตัวประกันที่ป่วย ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ รายหนึ่งที่กล่าวกับนักข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี
แหล่งข่าวรายนี้ยังเชื่อว่า มีสัญญาณบางอย่างที่ฮามาสยังไม่ปัดตกข้อเสนอไปเสียทั้งหมด
รายงานข่าวหลายชิ้นชี้ว่าฮามาสต้องการให้เกิดการหยุดยิงอย่างสมบูรณ์ และอิสราเอลต้องถอนทหารออกจากกาซ่าทั้งหมด ขณะที่ต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่ม ตลอดจนชาวกาซ่าที่เคยอยู่ตอนเหนือของพื้นที่จะต้องสามารถกลับไปที่พำนักเดิมของตนได้
ฮามาสกล่าวว่าอิสราเอลไม่ให้อิสระต่อการเดินทางกลับถิ่นพำนักเดิมของชาวกาซ่า ขณะที่กองทัพเทลอาวีฟยังคงไม่ถอนทหารออกจากตอนกลางของกาซ่า
แหล่งข่าวคนดังกล่าวบอกด้วยว่า ข้อเสนอที่บอกไปยังฮามาสและการเปิดทางให้ชาวกาซ่ากลับไป "อย่างไม่มีข้อจำกัด" สู่เขตทางเหนือและรวมถึงเงื่อนไขต่อการทำงานของสหประชาชาติเรื่องที่พักพิงและความช่วยเหลืออื่น ๆ "ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการหยุดยิง"
แถลงการณ์จากทำเนียบขาวมีขึ้นหลังจากที่ฮามาสเปิดเผยคลิปในวันพุธที่เเสดงให้เห็นว่าตัวประกันเชื้อสายอิสราเอลอเมริกันวัย 24 ปี ที่เชื่อ เฮิร์ช โกลด์เบิร์ก-โพลิน ยังมีชีวิตอยู่
ทั้งนี้ในการบุกอิสราเอลของฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม กลุ่มดังกล่าวซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย สังหารผู้คนไปประมาณ 1,200 ราย และจับตัวประกันไปราว 250 คน
- ที่มา: วีโอเอ