หนึ่งในวาระหลักของ โจ ไบเดน ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ หลังการปฏิญาณตนรับตำแหน่งในวันพรุ่งนี้คือ การผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์
เขาหวังว่าเงินช่วยเหลือนี้ จะบรรเทาพิษทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปเเล้วกว่า 4 แสนราย และกดดันภาคธุรกิจต่างๆ มากมาย
นักวิเคราะห์กล่าวว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล เป็นเป้าหมายที่น่าจะต้องเผชิญกับเสียงคัดค้าน จากผู้ที่กังวลเรื่องการก่อหนี้ภาครัฐ นอกจากนั้น โจ ไบเดน ยังต้องการผลักดันวาระเเห่งชาติที่สำคัญอื่นๆ เช่น การต่อสู้กับภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ การปฏิรูปนโยบายคนต่างด้าวจากสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และการคุ้มครองสิทธิ์การเลือกตั้งของประชาชนอเมริกัน
คณะทำงานของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า เเม้จะ “หวังสูง” ในเป้าหมายเหล่านั้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ “หวังได้ว่าน่าจะทำสำเร็จ”
การตั้งเป้าไว้สูงเช่นนี้ยังมาพร้อมกับ ปัจจัยการเมืองที่อาจรั้งการเดินหน้าอย่างรวดเร็จด้านนโยบาย นั่นก็คือความพยายามของฝ่ายเดโมเเครตที่ต้องการให้สภาสูงรับพิจารณาต่อจากสภาผู้แทนราษฎรว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ควรถูกถอดถอนหรือไม่ จากข้อหา “ยุยงให้เกิดความรุนเเรง” เมื่อวันที่ 6 มกราคม จากเหตุการณ์ม็อบผู้สนับสนุนทรัมป์ บุกยึดรัฐสภาขณะที่กำลังดำเนินการยืนยันผลการเลือกตั้งที่ทรัมป์ แพ้ต่อไบเดน
ในช่วง 8 ทศวรรษที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอเมริกัน มีตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องความสำเร็จ 100 วันเเรกของการดำรงตำแหน่ง จากการที่ประธานาธิบดี แฟรงคลิน รูสเวล์ต ในยุคนั้นสามารถผลักดันให้เกิดกฎหมายส่วนหลักๆ ที่เรียกว่า “New Deal” ซึ่งช่วยบรรเทาวิกฤตที่รุนเเรงเศรษฐกิจในตอนนั้น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ไบเดนต้องการเดินหน้าให้มีการดำเนินวาระเเห่งชาติที่เขาตั้งไว้ให้ได้อย่างชัดเจน ในช่วงต้นของการรับตำแหน่ง ด้วยการทำงานร่วมกับสมาชิกรัฐสภา
นักวิเคราะห์แดน มาฮาฟฟี รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการองค์กร Center for the Study of the Presidency and Congress ที่กรุงวอชิงตันกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นที่ ประธานาธิบดีผู้เข้ารับตำแหน่งใหม่ ที่มาพร้อมกับการผลักดันเงินช่วนเหลือเศรษฐกิจมูลค่ามากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์
เขากล่าวว่าที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายนี้ของโจ ไบเดนที่สุดคือ การที่ อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามาลงนามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 787,000 ล้านดอลลาร์ ไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่เขารับตำแหน่งในสมัยแรก พร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจจากความปั่นป่วนในตลาดการเงินอเมริกันช่วงนั้น
มาตรการเศรษฐกิจของโอมาบาในครั้งนั้น ก็มีโจ ไบเดนส่วนผลักดัน เพราะเขามีตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีนั่นเอง
อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ โจ ไบเดนมิได้มีเสียงสนับสนุนในสภาหนักแน่นเช่นเดียวกับโอบามา เนื่องจากความได้เปรียบของพรรคเดโมเเครตต่อรีพับลิกันในสภาผู้เเทนราษฎรและวุฒิสภาในตอนนี้ มีน้อยกว่า ตอนที่โอบามารับตำแหน่งในช่วงเริ่มต้น
แดน มาฮาฟฟี กล่าวด้วยว่า ความน่าท้าทายยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อพิจารณาว่า เป้าหมายของไบเดน มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องการต่อสู้ด้านสาธารณสุขกับโควิด-19 ไปพร้อมๆกัน
นอกจากนั้นเริ่มเห็นสัญญาณแล้วด้วยว่าอาจมีเเรงต้านจากสมาชิกรัฐสภาฝั่งรีพับลิกัน
ส.ว. มาร์โค รูบิโอ แห่งรัฐฟลอริดา จากพรรครีพับลิกัน เขียนผ่านทวิตเตอร์ว่า ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทำงานในุฒิสภามาก่อนหน้านี้ เป็นเวลายาวนานถึง กว่า 35 ปี และน่าจะทราบดีว่าเป้าหมายที่ตั้งมาไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านสภาได้อย่างรวดเร็ว
มาร์โค รูบิโอ เรียกร้องให้ฝ่ายของไบเดน มีการจัดลำดับความสำคัญต่อผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ โดยให้น้ำหนักไปที่คนรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง
และ แดน มาฮาฟฟี แห่ง Center for the Study of the Presidency and Congress เตือนด้วยว่า ไบเดน น่าจะยังคงต้องรับมือกับกระเเสการตั้งคำถามเรื่องผลการเลือกตั้ง ที่ถูกกระพือขึ้นมาแล้วจากโดนัลด์ ทรัมป์ แม้ว่าความพยายามดังกล่าวของทรัมป์จะไม่ประสบความสำเร็จในกระบวนการศาล แต่ก็ได้ฝังอยู่ในความคิดของคนจำนวนมากที่ถูกชักจูงโดยคำอ้างของเขาไปเรียบร้อยเเล้ว