สำนักข่าว AP รายงานถึงทิศทางภารกิจหลังพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งของ ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในวันพุธที่ 20 มกราคมที่จะถึงนี้ ตามเวลาในประเทศสหรัฐฯ โดยคาดว่าเขาจะเข้ามาจัดการปัญหาความขัดแย้งครั้งรุนแรงของคนในชาติ
ซึ่งความแตกแยกนี้ เห็นได้ชัดจากเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นบริเวณอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา การก้าวเข้ามาในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ไบเดนเตรียมที่จะ “เยียวยาจิตวิญญาณความเป็นอเมริกัน” อีกทั้งจะฟื้นฟูภาพลักษณ์ของ “ทำเนียบขาว” ให้กลับมาเป็นสัญลักษณ์ของ “ความมีเสถียรภาพ”และ “ความน่าเชื่อถือ” อีกครั้ง
ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวว่า “การเลือกความจริงเหนือสิ่งที่หลอกลวง การทำให้เกิดความสามัคคี มากกว่าสร้างความแตกแยก สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งเกียรติภูมิให้กลับสู่ทำเนียบขาว...และนั่นคือสิ่งที่เราเป็น” ที่ผ่านมาไบเดนเคยทำงานในทำเนียบขาวมายาวนานกว่า 40 ปี และเคยได้รับคำชื่นชมจากอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ว่าไบเดน เป็นตัวอย่างของผู้นำในภาวะวิกฤติ
ไบเดนยังเคยให้ความเห็นเชิงตำหนิว่า ประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ บริหารงานโดยดึงอำนาจไว้คนเดียว และขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่เน้นสร้างความบาดหมางให้เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราคาดว่าจะได้เห็นหลังจากนี้ คือการบริหารงานที่แตกต่างออกไป เชื่อว่าไบเดนจะเน้นการทำงานที่มีระบบ มีหลักการและอิงตามขนบธรรมเนียมปฏิบัติ
อย่างการรับมือวิกฤติโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่ปัจจุบันได้คร่าชีวิตคนในสหรัฐฯ ไปแล้วราว 4 แสนคน ที่ผ่านมา ทรัมป์เลือกที่จะปฏิเสธความรุนแรงของสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ทรัมป์จัดงานให้คนมารวมตัวในบริเวณทำเนียบขาว และไม่รัดกุมเรื่องการสวมใส่หน้ากากป้องกัน จนทำให้เกิดการแพร่เชื้อโคโรนาไวรัส ต่อคนจำนวนมาก หรือ ซูเปอร์สเปรดเดอร์ (superspreader) โดยภายใต้การบริหารของไบเดน น่าที่จะเห็นการบังคับให้คนที่เข้าออกทำเนียบขาว จำเป็นต้องสวมหน้ากากป้องกัน และหากเป็นไปได้ ทีมงานบางส่วน อาจจะทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19
ในประเด็นด้านการสื่อสารและให้ข่าวจากประธานาธิบดีสู่สังคม ก็จะถูกปรับเปลี่ยนไปจากยุคของทรัมป์ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์เลือกใช้สื่อโซเชียลอย่างทวิตเตอร์ในการให้ข่าวมาอย่างสม่ำเสมอ ทรัมป์สามารถทวีตข้อความได้ตลอดเวลา และสิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือหลักที่เขาใช้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคเดโมแครต อีกทั้งยังใช้เพื่อชี้แนะสมาชิกในพรรครีพับลิกันอยู่ในลู่ในทางที่ตนต้องการ แต่ในการใช้งานทวิตเตอร์ของไบเดน น่าที่จะเป็นไปเพื่อการแจ้งข่าวสาร ชี้แจงนโยบาย และสื่อสารในบริบทที่ไม่เน้นด้านอารมณ์ ซึ่งจะไม่สร้างความกระอักกระอ่วนให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ยังเคยกล่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ควรเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ใช้ภาษาที่หยาบคาย เหยียดเชื้อชาติ และพูดจาแบ่งแยกสังคมออกเป็นสองฝ่าย ทางด้านทีมงานของไบเดนได้ให้คำมั่นว่าจะไม่มองนักข่าวเป็นศัตรู และพร้อมตอบคำถามต่อสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น
ส่วนการวางตัวบุคคลเข้ารับตำแหน่งบริหารและทีมงานในทำเนียบขาว ไบเดนมักเลือกใช้ทรัพยากรบุคคลที่มากด้วยประสบการณ์ โดยเฉพาะทีมบริหารที่เขาเคยร่วมงานด้วยในยุคประธานาธิบดีโอบามา แต่ที่ผ่านมา ทรัมป์ตัดสินใจเลือกใช้คนในครอบครัว รวมถึงบุคคลที่ปราศจากประสบการณ์ในทำเนียบขาว มาทำงานให้กับเขา โดยเน้นไปที่ความจงรักภักดีต่อเขา
ที่ผ่านมา ทรัมป์ไม่สนใจเท่าใดนักว่าการทำงานตามกลไกของรัฐสภาเป็นเช่นใด โดยรัฐบาลใหม่ที่จะเริ่มงานวันที่ 20 มกราคมนี้ พรรคเดโมแครตจะคุมเสียงข้างมาก ทั้งของสภาบนและสภาล่าง ดังนั้นการผลักดันกฎหมายน่าที่จะมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งแตกต่างจากช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ที่พรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมากเฉพาะวุฒิสภาเท่านั้น
บทพิสูจน์ที่กำลังรอไบเดนและทีมงานของเขาเข้ามาสะสาง มีทั้งเรื่องโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันสูงกว่า 4 พันราย ปัญหาการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า เศรษฐกิจที่กำลังทรุดตัว อีกทั้งกรณีความขัดแย้งในการยื่นถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งเป็นครั้งที่สอง
ดักลาส บริงคลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Rice University ได้ให้ความเห็นว่า “งานหลักของไบเดน คือทำให้คนทั่วโลกกลับมามองว่า ทำเนียบขาวคือสัญลักษณ์ที่มีความมั่นคง และยึดโยงกับคุณธรรม อีกทั้งมีการบริหารจัดการที่ดี เพราะตอนนี้ทุกอย่างถูกทำให้สับสนไปหมด” นอกจากนี้ บริงคลีย์ ยังเชื่อว่า ไบเดนเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการรับมือกับความท้าทายดังกล่าว เพราะตลอดชีวิตของไบเดนทำงานที่ กรุงวอชิงตัน และยังมีโอกาสได้ทำงานบริหารระดับสูงเป็นเวลานานถึง 8 ปี
ภาพลักษณ์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประเทศอเมริกาในเวทีโลกถูกทำให้เปลี่ยนไป ที่ผ่านมาประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจถอนตัวออกจากหลายข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงยุติสนธิสัญญาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้สร้างความตึงเครียดให้กับประเทศพันธมิตรที่เก่าแก่อย่างประเทศในยุโรป อีกทั้งภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทรัมป์เลือกที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับนานาชาติ ในการพัฒนาวิจัยวัคซีน ซึ่งขัดกับบทบาทของผู้นำสหรัฐฯ ในอดีต ที่มักจะเป็นผู้ให้ความหวังแก่คนทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ไบเดนได้ให้สัญญาว่า เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งจะแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงจะให้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) และกลับเข้าสู่สนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
ริชาร์ด ฮาสส์ ประธานองค์กร Council on Foreign Relations หรือ CFS ชี้ว่า ไบเดนมีภารกิจสำคัญที่จะต้องสร้างให้ประเทศสหรัฐฯ มีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่เขากังวลมากที่สุดก็คือ ถ้ามองไปไกลกว่าปัจจุบัน “ไม่มีใครรู้เลยว่า อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากไบเดนหมดวาระ และก้าวลงจากตำแหน่ง...คนทั้งโลกมีความหวาดกลัวว่าทรัมป์หรือการบริหารประเทศสหรัฐฯ แบบทรัมป์ อาจจะกลับมาในอีก 4 ปีข้างหน้า”