สหภาพยุโรปไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในเบลารุสเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม โดยฝ่ายตรงข้ามของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์์ ลูคาเชนโก ระบุว่ามีการโกงเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจของประธานาธิบดีลูคาเชนโกที่อยู่ในอำนาจมาแล้วกว่า 26 ปี
ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวภายหลังการประชุมฉุกเฉินของสหภาพยุโรปต่อวิกฤติการณ์ในเบลารุสเมื่อวันพุธ (19 สิงหาคม) ว่า สหภาพยุโรปจะลงโทษผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรง การปราบปราม และการโกงเลือกตั้งในเบลารุสโดยเร็วด้วย
เหตุการณ์ความไม่สงบในเบลารุสทวีความรุนแรงขึ้น โดยเมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีลูคาเชนโกสั่งให้ตำรวจปราบปรามผู้ประท้วงในกรุงมินสก์ และก่อนหน้านี้ก็มีการปราบปรามผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสันติจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสองคน บาดเจ็บหลายร้อยคน และมีผู้ถูกจับกุมเกือบ 7,000 คน
ขณะที่บรรดาแรงงานต่างพากันหยุดงานเพื่อกดดันให้ผู้นำเบลารุสลาออก แต่เขายังคงยืนยันว่าจะไม่ลาออก
ความวุ่นวายในเบลารุสรุนแรงขึ้นเมื่อประธานาธิบดีลูคาเชนโกปฏิเสธข้อเรียกร้องของประชาชนที่ให้เขาลงจากตำแหน่งหลังจากมีการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง
ด้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ผู้นำเบลารุส กล่าวเตือนนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง ของฝรั่งเศส เมื่อวันอังคาร (17 สิงหาคม) ไม่ให้แทรกแซงกิจการภายในของเบลารุส ในระหว่างที่เขาสนทนาทางโทรศัพท์กับผู้นำทั้งสองและนายมิเชล
ก่อนหน้าที่สหภาพยุโรปจะจัดการประชุมฉุกเฉิน สเวียตลานา ซิคานูซกายา ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับลูคาเชนโก ระบุในคำร้องถึงสหภาพยุโรประหว่างที่เธอลี้ภัยในลิธัวเนีย ขอให้สหภาพยุโรปไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยซิคานูซกายากล่าวว่า เธอคือผู้ชนะการเลือกตั้งที่แท้จริง และขอให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยมีผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติด้วย
ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดน แอน ลินเด เสนอว่าจะเยือนเบลารุสในฐานะว่าที่ผู้นำคนใหม่ขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ซึ่งมีบทบาทด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในยุโรป โดยทั้งประเทศตะวันตกและประเทศในเครืออดีตสหภาพโซเวียตต่างเป็นสมาชิกขององค์การนี้ด้วยเช่นกัน