ดนุภา คณาธีรกุล หรือ “มิลลิ” แรพเปอร์สาวชาวไทย ติดอันดับหนึ่งใน 100 ผู้หญิงที่ “ทรงอิทธิพลและสร้างเเรงบันดาล” จากทั่วโลกประจำปี 2022ของสื่อบีบีซีของอังกฤษ
มิลลิ วัย 20 ปี ขึ้นทำเนียบ BBC 100 Women 2022 เช่นเดียวกับ โอเลนา เซเลนสกา สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของยูเครน, ปริยังกา โจปรา โจนาส นักแสดงชื่อดังชาวอินเดีย และบิลลี ไอลิช นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวอเมริกัน เป็นต้น
บีบีซีระบุว่า รายชื่อหญิงทั้ง 100 คนนี้ สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของผู้หญิงท่ามกลางความขัดแย่งทั่วโลกในปี 2022 ตั้งแต่การประท้วงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในอิหร่าน จนถึงเหตุการณ์รัสเซียรุกรานยูเครน ในปีนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่บีบีซีขอให้ ผู้หญิงที่ติดอันดับ 100 คนของปีก่อน ๆ ให้เสนอชื่อผู้หญิงคนอื่นที่ควรติดอันดับในปีนี้ด้วย
บีบีซีอธิบายเพิ่มเติมว่า ได้คัดเลือกรายชื่อหญิงทั้ง 100 คน ที่สร้างอิทธิพลในประเด็นสำคัญในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงผู้ที่มีเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจต่อสังคม หรือประสบความสำเร็จและสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ
ตัวอย่างของหญิงจากทั่วโลกที่ติดอันดับของบีบีซีในปีนี้ ได้แก่
มิลลิ – ไทย
ดนุภา คณาธีรกุล หรือ “มิลลิ” ใช้เนื้อเพลงสื่อถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น มาตรฐานความงามแบบเกินจริง รวมถึงประเด็นเรื่องเพศ มิลลิร้องเพลงแรพในหลายภาษาและสำเนียง และยังมีการใช้คำศัพท์แสลงจากชุมชนข้ามเพศในไทย โดยล่าสุดนี้ เธอได้ประกาศเปิดตัวอัลบั้มใหม่ “แบบ เบิ้ม เบิ้ม” (BABB BUM BUM)
ในช่วงปีที่ผ่านมา “มิลลิ” สร้างกระแสขณะแสดงในเทศกาลดนตรีโคเชลลา โดยเธอทำการแสดงเพลงที่มีเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาลและท้าทายค่านิยมกระแสหลักของไทย และรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีขณะเล่นคอนเสิร์ต และเมื่อปีที่แล้ว มิลลิถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทหลังเธอวิจารณ์การรับมือโรคโควิด-19 ของรัฐบาลไทย จนเกิดกระแสแฮชแทก #SaveMilli ตามสื่อสังคมออนไลน์ไทย
เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน – เยอรมนี
เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน เป็นนักการเมืองชาวเยอรมัน และเป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรปหญิงคนแรก เธอรับตำแหน่งในขณะรัฐมนตรีของอดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล และเป็นรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกของเยอรมนี
ฟ็อน แดร์ ไลเอิน เกิดที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และการแพทย์ก่อนเข้าสู่วงการการเมือง เธอรับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อปี 2019 นำสหภาพยุโรป หรือ อียู ผ่านความท้าทายต่าง ๆ เช่น เบร็กซิต การระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามยูเครน เธอยังอยู่เบื้องหลังกฎหมายของอียูที่กำหนดให้มีความสมดุลทางเพศของคณะกรรมการในบริษัท โดยมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในปีนี้
ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ได้รับการเสนอชื่อโดยนายกฯ ซันนา มาริน ของฟินแลนด์ ซึ่งเคยติดอันดับหญิง 100 คนที่ทรงอิทธิพลเมื่อปี 2020 โดยผู้นำฟินแลนด์กล่าวว่า ฟ็อน แดร์ ไลเอิน “แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่อย่างเหลือเชื่อ ในการช่วยให้อียูผ่านความท้าทายต่าง ๆ ไปด้วยกัน”
โอเลนา เซเลนสกา – ยูเครน
โอเลนา เซเลนสกา เคยเป็นนักเขียนบทโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จ ก่อนรับตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเคียงคู่กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี สามีของเธอ เมื่อปี 2019 โดยในบทบาทใหม่นี้ เซเลนสกาได้พัฒนาสิทธิสตรีและส่งเสริมวัฒนธรรมของยูเครน
หลังรัสเซียรุกรานยูเครน เซเลนสกาใช้บทบาทของเธอเพื่อเน้นย้ำความยากลำบากที่ชาวยูเครนเผชิญ และเป็นคู่สมรสของ ปธน. ต่างชาติคนแรกที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภาสหรัฐฯ และขณะนี้ เซเลนสกาให้ความสำคัญกับสนับสนุนสุขภาพจิตของเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม
เซเลนสกาเคยกล่าว “ผู้หญิงมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาสันติ…ผู้หญิงที่เผชิญ (สงคราม) จะไม่มีทางเดินกลับหลัง และฉันมั่นใจว่าความมั่นใจภายในของเราจะส่องประกายออกมา”
ปริยังกา โจปรา โจนาส – อินเดีย
ปริยังกา โจปรา โจนาส เป็นหนึ่งในดาราผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของวงการบอลลีวูด โดยมีผลงานในภาพยนตร์กว่า 60 เรื่อง อดีตมิสเวิลด์ผู้นี้เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี 2002 และเข้าสู่วงการฮอลลีวูดในเวลาต่อมา โดยเป็นนักแสดงหญิงชาวเอเชียใต้คนแรกที่ได้รับบทนำในละครซีรีส์ทางโทรทัศน์อเมริกัน เรื่อง “แก๊งมือปราบพิฆาตทรชน” (Quantico) เมื่อปี 2015
ผลงานในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องอื่น ๆ ของเธอ มีทั้ง “รักฉันซึ้งปนฮา” (Isn’t it Romantic) และ “เดอะ เมทริกซ์ เรเซอเร็คชั่นส์” (The Matric Resurrections) เธอยังก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ในอินเดีย และเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ โดยเธอรณรงค์สิทธิเด็กและการศึกษาของเด็กหญิง
โจปราเคยกล่าวว่า “การเคลื่อนไหว MeToo และการเรียกร้องที่ตามมาของผู้หญิงที่ปกป้องและยืนเคียงข้างซึ่งกันและกัน มีบางสิ่งที่ทรงพลังมากของการรวมตัวกันนี้”
บิลลี ไอลิช – สหรัฐฯ
บิลลี ไอลิช เป็นนักร้องและนักแต่งเพลงซูเปอร์สตาร์ เจ้าของรางวัลแกรมมีที่ทำลายสถิติต่าง ๆ ผลงานเพลงของเธอระบุถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น “Your Power” ที่ประณามผู้ละเมิดเด็กหญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และ “All The Good Girl Go To Hell” ที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ในปีนี้ ไอลิชเป็นทั้งศิลปินอายุน้อยที่สุดที่ขึ้นแสดงนำในเทศกาลดนตรีแกลสตันบูรีในอังกฤษ และใช้เวทีการแสดงเพื่อประท้วงคำตัดสินของศาลสูงสหรัฐฯ ที่ยุติสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการทำแท้ง เธอยังเปิดเผยถึงความรู้สึกต่อรูปลักษณ์ทางกาย การเผชิญโรคซึมเศร้า และการรับมือกับโรคทูเร็ตต์ ซึ่งเป็นโรคความผิดปกติทางระบบประสาทของเธอ
ไอลิชเคยกล่าวว่า “ฉันรู้สึกปลามปลื้มต่อยุคสมัยของเราขณะนี้ ผู้หญิงได้รับบทนำ เคยมีช่วงที่ฉันจมอยู่กับความสิ้นหวัง เนื่องจากไม่มีผู้หญิงอย่างฉันที่ถูกรับฟังอย่างจริงจัง”
บรรดาผู้ประท้วงหญิงที่ตัดผม – อิหร่าน
อิหร่านเผชิญการประท้วงครั้งใหญ่ในปีนี้ หลังการเสียชีวิตของมาห์ซา อะมินิ หญิงชาวเคิร์ดวัย 22 ปี ขณะถูกตำรวจศีลธรรมควบคุมตัวในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 13 กันยายน โดยเธอถูกกล่าวหาว่า ละเมิดกฎการสวมผ้าคลุมศีรษะ หรือ ฮิญาบ ของอิหร่าน
บีบีซีระบุว่า ผู้ประท้วงหญิงมีบทบาทสำคัญในการประท้วงนี้ โดยพวกเธอต่อสู้เพื่อเสรีภาพและต่อต้านการบังคับสวมฮิญาบ และการตัดผมได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง โดยผู้มีชื่อเสียง นักการเมือง และนักรณรงค์ทั่วโลกต่างตัดผมเพื่อแสดงถึงจุดยืนร่วม ทั้งนี้ การตัดผมเป็นการแสดงถึงความไว้อาลัย ในคติของชุมชนชาวอิหร่านบางส่วน
ลินา อะบู อัคเลห์ – ปาเลสไตน์
ลินา อะบู อัคเลห์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวปาเลสไตน์-อาร์เมเนีย เป็นหลานสาวของชิรีน อะบู อัคเลห์ ผู้สื่อข่าวชาวปาเลสไตน์-อเมริกัน ของสำนักข่าวอัลจาซีรา ที่ถูกสังหารขณะทำข่าวการรุกรานเวสต์แบงก์ของกองกำลังอิสราเอล เมื่อเดือนพฤษภาคม กองทัพอิสราเอลระบุว่า “มีความเป็นไปได้สูง” ที่หนึ่งในทหารของตนสังหารเธอ “โดยความผิดพลาด”
ลินากลายเป็นสัญลักษณ์ของการรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมและการรับผิดชอบต่อการสังหารชิรีน อะบู อัคเลห์ ทั้งนี้ ลินาจบปริญญาโทด้านการระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน เธอยังติดอันดับหนึ่งใน 100 ผู้นำที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาท โดยนิตยสารไทม์
ลินาเคยกล่าวว่า “เราจะต้องเน้นย้ำทัศนคติของผู้หญิง เพื่อที่เราจะมั่นใจได้ว่า เรื่องราวที่เราบอกเล่าและข้อมูลที่เรารวบรวมมีความเที่ยงตรง ถูกต้อง และครอบคลุม ถ้าไม่มีผู้หญิง เราไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้แน่”
สิริชา บันดลา – อินเดีย
สิริชา บันดลา เป็นหนึ่งในนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจในยานอวกาศ Virgin Galactic Unity 22 ซึ่งเป็นการบินในอวกาศแบบเดินทางตรง โดยมีนักบินอวกาศเต็มอัตราครั้งแรกของบริษัทเวอร์จิน กาแลคติค ทั้งนี้ บันดลาเป็นผู้หญิงคนที่สองที่เกิดในอินเดีย ที่เดินทางขึ้นสู่อวกาศ
บันดลาศึกษาด้านวิศวกรรมการบินในสหรัฐฯ โดยปัจจุบัน เธอเป็นรองประธานด้านกิจการรัฐบาลและปฏิบัติการวิจัยของของเวอร์จินกาแลคติค โดยบทบาทของเธอรวมถึงการทำงานกับลูกค้านักวิจัย เพื่อทำการทดลองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยานอวกาศของทางบริษัท
ซันนี ลีโอน ซึ่งเคยติดอันดับหญิง 100 คนที่งทรงอิทธิพลเมื่อปี 2016 เป็นผู้เสนอชื่อบันดลา โดยเธอกล่าวว่า “สิริชาเอาชนะทุกอย่างด้วยการทำงานและอุทิศตนอย่างหนักในอุตสาหกรรมที่มีผู้ชายเป็นส่วนมาก ทำให้เธอเป็นแรงบันดาลใจของฉัน และที่สำคัญกว่านั้น คือเป็นแรงบันดาลใจของเด็กหญิงทุกคนที่มีความฝันในแบบเดียวกัน”
ยานา ซินเควิช – ยูเครน
นักการเมืองและอาสาสมัครการแพทย์ด่านหน้า
ยานา ซินเควิช เป็นผู้นำองค์กรปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์อาสาสมัคร Hospitallers ทำหน้าที่อพยพผู้คนจากสนามรบในยูเครน ซินเควิชก่อตั้งองค์กรดังกล่าวเมื่อปี 2014 ขณะที่ยูเครนเริ่มเผชิญความรุนแรง
ซินเควิชนำทหารที่ได้รับบาดเจ็บ 200 คน เข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยด้วยตนเอง ทีมงานของเธอปฐมพยาบาลให้ทหารและพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บ ทำการอบรมการแพทย์ และทำการอพยพประชาชนราว 6,000 ครั้ง อาสาสมัครวัย 27 ปีผู้นี้ ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาที่อายุน้อยที่สุดของยูเครน และเป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านการแพทย์ทหาร
- ที่มา: บีบีซี