ผู้ผลิตรถหลายรายพากันยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ กรณีสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน พร้อมเรียกร้องให้คืนเงินภาษีที่ได้ทั้งหมดคืนพร้อมดอกเบี้ยด้วย
บริษัทผู้ผลิตรถอันได้แก่ เทสลา (Tesla) วอลโว่ (Volvo) ฟอร์ด (Ford) และเมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ต่างยื่นเรื่องต่อศาลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในนครนิวยอร์ก เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเนื้อหาของคำฟ้องนั้นเกี่ยวกับประเด็นภาษีนำเข้า ซึ่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษี แบบที่เทสลา ระบุว่า เป็น “การกระทำตามอำเภอใจและใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ”
การเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันและรัฐบาลกรุงปักกิ่งมีข้อพิพาทกรณีการค้ากันอยู่ และฝ่ายบริษัทผู้ผลิตรถทั้งหลายร้องขอให้สหรัฐฯ ยกเลิกนโยบายดังกล่าวพร้อมทั้งคืนเงินที่เรียกเก็บไปแล้วให้ด้วย
ขณะเดียวกัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ ระบุในเอกสารที่ยื่นฟ้องว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตัน “ทำสงครามการค้าแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่มีขอบเขต และไม่มีข้อจำกัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการนำเข้ามูลค่าถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน” ทั้งยังชี้ด้วยว่า กฎหมายของสหรัฐฯ เองไม่ได้เปิดทางให้อำนาจแก่จำเลยในเรื่องของระยะเวลาและวิธีการสู้คดีด้วย
ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการค้าดำเนินมานานหลายเดือน แม้ว่าทั้งสองประเทศจะลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสที่ 1 ไปเมื่อต้นปีจะช่วยยุติประเด็นที่มีปัญหากันไปบ้างแล้ว โดยจีนสัญญาที่จะสั่งซื้อสินค้ามูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ยอมยกเลิกแผนเรียกเก็บภาษีจากสินค้าจีนมูลค่าราว 160,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว
แต่ขณะที่สหรัฐฯ ยอมลดพิกัดอัตราภาษีนำเข้าลงเหลือครึ่งหนึ่งจาก 15 เปอร์เซ็นต์ เป็น 7.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสินค้าจีนมูลค่ารวมประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลกรุงวอชิงตันยังคงอัตราภาษี 25 เปอร์เซ็นต์สำหรับสินค้ามูลค่าราว 250,000 ล้านดอลลาร์จากจีนไว้ ซึ่งรวมถึงสินค้าบางส่วนที่ผู้ผลิตรถยนต์อ้างถึงในเรื่องที่ส่งฟ้องศาลด้วย
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ตั้งใจใช้นโยบายภาษีดังกล่าวเพื่อช่วงลดการขาดดุลการค้าของตน พร้อมๆ กับบังคับเปลี่ยนวิธีทำการค้าของจีนที่สหรัฐฯ มองว่า “ไม่เป็นธรรม”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แจ้งว่า ดุลการค้าสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมพุ่งขึ้นเกือบ 11 เปอร์เซ็นต์ มาเป็นประมาณ 63,600 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนที่ขาดดุลจากจีนนั้นเพิ่มขึ้นมาเป็นราว 28,300 ล้านดอลลาร์