รัฐวิคตอเรียของประเทศออสเตรเลีย ออกกฎหมายอนุญาตให้แพทย์สามารถช่วยผู้ป่วยที่ต้องการจบชีวิตตนเอง หรือ ‘assisted suicide’ ทำตามความต้องการของคนป่วยได้ ถือเป็นรัฐแรกในประเทศที่ออกกฎหมายรองรับเรื่องนี้
รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของรัฐ จิลล์ เฮนเนสซีย์ (Jill Hennessy) กล่าวว่า สภาได้ระบุแล้วว่า “การจบชีวิตที่ดีควรเป็นไปอย่างไร?”
กฎหมายที่ช่วยผู้ป่วยในการจบชีวิตฉบับนี้ ครอบคลุมเฉพาะคนไข้ระยะสุดท้าย ที่อายุขั้นต่ำ 18 ปี และอยู่ในสภาพเจ็บปวดทางกายอย่างที่สุด โดยแพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ป่วยเหลือเวลาอยู่ต่อไปไม่ถึงครึ่งปีก่อนเสียชีวิต
คนกลุ่มนี้สามารถขอรับยาเพื่อจบชีวิตตนเองภายใน 10 วัน หลังจากที่ยื่นเรื่อง คนไข้ขั้นสุดท้ายจะเป็นผู้ฉีดยาเข้าร่างกายตนเอง แต่ในกรณีที่อ่อนแอเกินกว่าจะทำเองได้ หน้าที่ดังกล่าวจะตกเป็นของแพทย์
กฎหมายระบุว่า คนไข้ที่ตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองจะต้องมีสติสัมปชัญญะดีอยู่และผ่านกระบวนการยื่นคำร้อง 3ครั้ง ต่อแพทย์ที่มีหน้าที่เฉพาะในเรื่องนี้
ผู้นำรัฐบาลของมลรัฐวิคตอเรีย นายแดนเนียล แอนดริวส์ (Daniel Andrews) ชื่นชมกฎหมายฉบับใหม่นี้ว่าได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ ที่แสดงให้เห็นถึงการเข้าถึงจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ผู้ไม่เห็นด้วยมองว่า กฎหมายนี้จะเป็นช่องทางให้มีการกระทำผิดต่อผู้สูงอายุ และยังเป็นการลิดรอนสิทฺธิของคนไข้ระยะสุดท้ายในการรับการรักษาแบบประคับประคองตามอาการจนถึงที่สุด หรือที่เรียกว่า ‘palliative care’
รองศาสตราจารย์ มาร์ค บอฟีย์ (Mark Boughey) ผู้อำนวยการแผนก palliative care ที่โรงพยาบาล St. Vincent’s ที่นครเมลเบิร์น เชื่อว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นก้าวเดินที่ผิดพลาด
เขากล่าวว่า ความกังวลประการสำคัญที่สุดของตนคือเรื่องการไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองตามอาการจนถึงที่สุด และอาจทำให้เกิดความคิดที่ว่าเมื่อไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ ผู้ป่วยจะเข้าขั้นตอนจบชีวิตตนด้วยความช่วยเหลือของแพทย์
รองศาสตราจารย์ บอฟีย์กล่าวว่าแนวคิดแบบนี้ทำให้กระบวนการดูแลคนไข้ข้ามขั้นตอนดูแลระยะสุดท้ายไป
กฎหมายฉบับนี้ของรัฐวิคตอเรียผ่านสภาหลังจากที่มีการอภิปรายเป็นเวลา 100 ชั่วโมง และจะมีผลบังคับใช้กลางปี พ.ศ. 2562
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Phil Mercer)