ในรัฐวิคตอเรียของออสเตรเลีย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติร่างกฏหมายมื่อเดือนตุลาคม ที่อนุญาตการช่วยเหลือคนป่วยให้จบชีวิตตนเองตามความสมัครใจ
การลงคะเเนนเสียงสนับสนุนร่างกฏหมายนี้มีขึ้นหลังการถกเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนในสภาล่าง นานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง
หลังจากร่างกฏหมายได้รับไฟเขียวจากสภาล่างเเล้ว นายกรัฐมนตรีของรัฐวิคตอเรีย Daniel Andrews กล่าวกับบรรดาผู้สื่อข่าวว่า ตนเองภูมิใจมากกับการลงคะเเนนเสียงเห็นชอบนี้ ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญในการให้สิทธิ์เเก่ชาววิคตอเรียจำนวนมาก ที่ต้องการจบชีวิตตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีหลังจากที่ถูกปฏิเสธมานาน
กลุ่มคนที่คัดค้านการช่วยเหลือให้คนจบชีวิตตนเองอย่างสมัครใจ รวมทั้งกลุ่มศาสนาในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการลงคะเเนนเสียงของวุฒิสภาครั้งนี้ โดยทางกลุ่มศาสนาได้เรียกร้องให้แพทย์และพยาบาลเน้นพัฒนาวิธีการดูแลคนป่วยในระยะสุดท้ายให้ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยการช่วยให้คนป่วยเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่ไม่มีทางรักษาโรคให้หาย
ปัจจุบัน มี 5 ประเทศที่ได้รับรองทางกฏหมายในการช่วยให้คนป่วยจบชีวิตอย่างสมัครใจ ได้เเก่ เบลเยียม เเคนาดา โคลัมเบีย ลักเเซมเบิร์ก เเละเนเธอเเลนด์
การช่วยเหลือคนป่วยในการจบชีวิตตนเอง เป็นการออกใบสั่งยาที่ช่วยปลิดชีวิตผู้ป่วย ตามเวลาเเละสถานที่ที่ผู้ป่วยเลือก ผู้ป่วยส่วนมากที่สามารถขอใช้สิทธิ์นี้เป็นผู้ป่วยอาการหนักที่ใกล้จะเสียชีวิตเเล้ว เเต่ผู้ป่วยหลายคนที่ไม่อยู่ในข่ายดังกล่าวเเย้งว่า ตนเองควรมีสิทธิ์ที่จะจบชีวิตตนเองอย่างสมัครใจนี้เช่นกัน
ผู้ป่วยกลุ่มนี้รวมทั้งผู้ป่วยโรคจิตเภท เเละผู้สูงอายุที่เเข็งเเรงดีเ เต่รู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เเล้ว และพร้อมแล้วที่จะลาจากโลก
ในปี 2014 เบลเยียมกลายเป็นประเทศเเรกที่ขยายสิทธิ์ในการขอความช่วยเหลือทางการเเพทย์เพื่อจบชีวิตอย่างสมัครใจนี้เเก่เด็กที่ป่วยหนักระยะสุดท้าย เเต่ไม่รวมถึงผู้ป่วยจิตเภท เเละเบลเยียมอนุญาตให้ผู้ป่วยจิตเภทวัยผู้ใหญ่มีสิทธิ์นี้ เเต่บรรดาเเพทย์ส่วนใหญ่มักไม่อนุญาตตามคำขอ
และในสวิสเซอร์เเลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น เเคนาดา เเละรัฐ 6 รัฐในสหรัฐอเมริกาซึ่งรวมทั้งกรุงวอชิงตัน ถือว่าการช่วยเหลือให้คนที่ไม่ได้เจ็บป่วยในระยะสุดท้ายปลิดชีวิตตนเองอย่างสมัครใจ เป็นเรื่องถูกกฏหมาย
เเต่ประเทศเกือบทั้งหมดนี้ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติร้องขอความช่วยเหลือนี้ เเต่กลับทำได้ในสวิสเซอร์เเลนด์ ทำให้มีคนต่างชาติเดินทางเข้าไปในสวิสเซอร์เเลนด์เพื่อดำเนินการนี้เพิ่มมากขึ้น จนได้ชื่อว่า “การท่องเที่ยวแนวอัตวิบาตกรรม”
ผลการศึกษาเกี่ยวกับ “การท่องเที่ยวอัตวิบาตกรรม” ตั้งเเต่ปี 2008 ถึง 2012 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medical Ethics ชี้ว่า มีคน 611 คนเดินทางไปสวิสเซอร์เเลนด์ ส่วนมากที่ เมืองซูริค ในช่วงสี่ปีดังกล่าว เพื่อขอความช่วยเหลือทางการเเพทย์เพื่อจบชีวิตตนเองอย่างสมัครใจ
อย่างน้อย 44 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านั้นมาจากเยอรมนี เเละ 21 เปอร์เซ็นต์มาจากอังกฤษ และอย่างน้อย 21 คนของคนเหล่านี้ มาจากสหรัฐอเมริกา
ที่ออสเตรเลีย ในสภานิติบัญญัติของรัฐวิคตอเรีย ร่างกฏหมายที่จะถกกันนี้จะระบุอายุตามกฏหมายที่คนสามารถร้องขอใช้สิทธิ์นี้ได้ตั้งเเต่อายุ 18 ปีขึ้นไป เเละโรคที่เป็นต้องสร้างความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดในระดับที่คนเราทนไม่ได้
อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย Paul Keating เเสดงความคัดค้านต่อร่างกฏหมายนี้ เขาเรียกการลงคะเเนนเสียงสนับสนุนร่างกฏหมายนี้ว่าเป็นวินาทีเเห่งความเศร้าโศกของออสเตรเลียทั้งประเทศ เขาหวังว่าสภาสูงของรัฐวิคตอเรียจะไม่อนุมัติร่างกฏหมายนี้
ด้านนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนปัจจุบัน Malcolm Turnbull กล่าวว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับร่างกฏหมายช่วยคนให้จบชีวิตตนเองอย่างสมัครใจนี้ เเต่จะไม่ขัดขวางการตัดสินใจของรัฐสภาของรัฐวิคตอเรีย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)