รายงานสหประชาชาติระบุว่า เมื่อปี คศ. 2013 มีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานทั่วโลกกว่า 213 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 59 ล้านคนอาศัยอยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ ปี คศ. 1990
รายงานชี้ว่าในบรรดาผู้อพยพย้ายถิ่นฐานทั่วโลก มีอยู่กว่า 95 ล้านคนที่เดินทางไปจากประเทศในเอเชียแปซิฟิก เพิ่มขึ้น 50% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
คุณ Hongjoo Hahm รองเลขาธิการฝ่ายบริหารของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและสังคม ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของสหประชาชาติ (UNESCAP) กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐาน คือเรื่องปากท้อง เนื่องจากผู้อพยพส่วนใหญ่ต้องการหาแหล่งทำมาหากินที่ดีกว่าเดิม
ในกรณีของเอเชียนั้นแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากมีการอพยพจากประเทศแถบทางใต้ไปยังประเทศแถบทางใต้ด้วยกัน โดยผู้อพยพส่วนใหญ่เดินทางไปจาก ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ อินเดีย อิโดนีเซีย และปากีสถาน โดยมีจุดหมายปลายทางที่ มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ มัลดีฟส์ และไทย
สหประชาชาติชี้ว่าปัญหาสำคัญของแรงงานอพยพเหล่านี้คือ ข้อจำกัดในบางประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิของพวกเขา ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมและการคุ้มครองต่างๆได้ ข้อจำกัดเหล่านี้สร้างทั้งความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
คุณ Hongjoo บอกว่าหากรัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านค่าแรง และดึงแรงงานอพยพเหล่านั้นให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั้นๆ
ด้านคุณ Phil Robertson แห่งองค์กร Human Rights Watch ชี้ว่าหลายประเทศในเอเชีย เช่น มาเลเซีย นิยมใช้มาตรการรับแรงงานอพยพแบบระยะสั้นแทนการให้สิทธิคุ้มครองแบบถาวร ทำให้มีผู้อพยพจำนวนมากถูกผลักเข้าสู่การทำงานแบบผิดกฎหมาย หรือเศรษฐกิจใต้ดิน เนื่องจากรัฐบาลประเทศเหล่านั้นมองว่าผู้อพยพคือภัยคุกคาม และต้องการปกป้องความมั่นคงของประเทศเกินความเป็นจริง
(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)