การประชุมเอเชีย-แอฟริกาครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1955 ที่ Bandung ในอินโดนีเซียเพื่อเรียกร้องเสรีภาพจากการปกครองแบบอาณานิคมและเพื่อต้านอิทธิพลจากชาติอภิมหาอำนาจสองขั้วคือสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต
ในการฉลองครบ 60 ปีของการประชุมนี้ในกรุงจาร์การต้าและบันดุง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย Arrmanatha Nasir กล่าวว่า ประเด็นหลักของการประชุมหนนี้ต่างไปจากที่เคย ประเด็นหลักของการประชุมคือการพัฒนา การประชุมต้องการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนของเอเชียและของแอฟริกาว่าจะกำจัดความยากจนและลดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างสองทวีปลง
การประชุมเอเชียแอฟริกาในช่วงแรกเริ่มได้นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มความร่วมมือที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่หลังจากสงครามเย็นยุติลง นักวิเคราะห์ชี้ว่าการประชุมนี้หมดบทบาทลง การประชุมเอเชียแอฟริกามักจบลงด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ชาติตะวันตกแต่ไม่มีความร่วมมือใดๆ
ในปีนี้ ประธานาธิบดี Joko Widodo แห่งอินโดนีเซียอยากสร้างขอบข่ายการทำงานร่วมกันแก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเน้นความร่วมมือและการพัฒนาเป็นหลัก
ระหว่างการประชุม ผู้จัดงานฝ่ายอินโดนีเซียจะส่งเสริมความร่วมมือที่เรียกว่า South-South cooperation ที่หมายถึงความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาโดยตรงและความร่วมมือแบบ triangular cooperation ที่เกี่ยวข้องกับประเทศกำลังพัฒนาร่วมมือกับประเทศตะวันตกแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ในการจัดหาความช่วยเหลือ
นาย Dian Triansyah Djani เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย ยกตัวอย่าง อินโดนีเซียที่ได้รับเงินและความสนับสนุนจากนอร์เวย์ในการจัดโครงการความช่วยเหลือ 45 โครงการแก่อาฟกานิสถานในสาขาสาธารณสุข การศึกษาและการเกษตร เขากล่าวว่าไม่มีประเทศใดๆ ในโลกที่จะทำอย่างนี้ได้เพียงลำพัง
เขากล่าวว่าความจำเป็นในการพัฒนาหนักหนาเกินกว่าที่อินโดนีเซียจะดำเนินการเองได้ตามลำพัง ประเทศกำลังพัฒนาทำเองไม่ได้ตามลำพังแต่ต้องพึ่งความร่วมมือจากประเทศพันธมิตรที่พัฒนาแล้ว
นาย Stig Traavik ทูตนอร์เวย์ประจำอินโดนีเซียชี้ว่าประเทศต่างๆ ในชาติมุสลิมสามารถดูอินโดนีเซียเป็นตัวอย่างของชาติมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีบทบาทในงานพัฒนาและมีความเป็นประชาธิปไตย เขากล่าวว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศมหาอำนาจในด้านหนึ่ง นั่นก็คือมุ่งการพัฒนา มีความรอมชอมในความแตกต่างและมีความถ่อมตน
ผู้จัดงานประชุมเอเชียแอฟริกาครบปีที่ 60 กล่าวว่าพวกเขาต้องการเพิ่มอำนาจและอิทธิพลของประเทศกำลังพัฒนาในสหประชาชาติ แม้ว่าจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษและสหรัฐฯ จะมีอำนาจในการวีโต้ในฐานะสมาชิกถาวรแห่งสภาความมั่นคงสหประชาชาติก็ตาม
ในปลายสัปดาห์นี้ ประมุขของบางประเทศ รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ เอธิโอเปียและปากีสถาน มีกำหนดที่ที่จะกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมด้วย