บรรดาแกนนำของกลุ่มประชาสังคมอาเซียนและวาระประชาชน (ASEAN Civil Society Conference and People’s Forum) เตรียมร่วมแถลงข้อวิจารณ์อย่างรุนแรงต่อสมาคมอาเซียนในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 26 ที่จะจัดขึ้นในปลายเดือนนี้ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
แกนนำกลุ่ม ACSC และ APF นี้ เตรียมแจ้งแก่บรรดาผู้นำอาเซียนว่าข้อแนะนำต่างๆที่พวกตนเสนอแก่ทางสมาคมอาเซียนเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2548 ไม่เคยถูกนำไปใช้ในแนวทางที่เป็นประโยชน์ใดๆ เลย และชี้ว่านี่เป็นเพราะสมาคมอาเซียนให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของบริษัท กลุ่มชนชั้นนำในสังคม รวมทั้งรัฐวิสาหกิจมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไป
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนาน 4 วันจะจัดที่เมืองหลวงของมาเลเซียตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนนี้ ก่อนหน้าการประชุม ทางการมาเลเซียปล่อยตัวคนกว่า 100 คน รวมทั้งบรรดาผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุมในข้อหาสร้างความปั่นป่วนแก่บ้านเมืองตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
นักรณรงค์ชาวมาเลเซีย Jerald Joseph ประธานของกลุ่มวาระประชาชนอาเซียนกล่าวว่านายกรัฐมนตรี Najib Razak แห่งมาเลเซียต้องตอบคำถามสำคัญพื้นฐานข้อหนึ่งในฐานะผู้จัดการประชุม
เขากล่าวว่ามาเลเซียต้องตอบให้ได้ว่าตนจะเป็นประธานอาเซียนได้อย่างไรในขณะที่ปล่อยให้ทุกส่วนในสังคมตกอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เขาคิดว่านี่ถือเป็นการละเมิดต่อกฏของอาเซียนที่มุ่งเคารพต่อสิทธิ์ขั้นพื้นฐานและเสรีภาพ
การประชุมผู้นำอาเซียนเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแค่เสือกระดาษเพราะสมาคมอาเซียนต้องยึดในนโยบายไม่แทรกแซงกิจการของประเทศสมาชิก แต่การประชุมของกลุ่มประชาสังคมอาเซียนที่จะจัดขึ้นนอกรอบ จะไม่ลังเลที่จะวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาที่กำลังคุกกรุ่น อาทิ การละเมิดสิทธิ์
ในเดือนนี้ กลุ่มประชาสังคมอาเซียนจะเรียกร้องต่อลาวเป็นการเฉพาะ ให้ชี้แจงกรณีการลักพาตัวนักรณรงค์ด้านสิทธิ์ชาวลาวคนสำคัญคนหนึ่งโดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับทางการ
พวกเขาต้องการให้ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างเขื่อนหลายๆ เขื่อนบนแม่น้ำโขงและปัญหาการเอารัดเอาเปรียบคนต่างด้าวและผู้อพยพที่รุนแรงขึ้น นอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ
ส่วนประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลทหารตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้วก็จะได้รับความสนใจอย่างมากเช่นกัน
บรรดานักรณรงค์ด้านสิทธิ์ในประเทศไทยตกอยู่ในสภาพที่ไม่แน่ใจตลอดเวลาว่าจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอะไรได้บ้างหรือจะทำอะไรได้บ้าง
ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกรุงเทพเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว คุณศันสนีย์ สุทธิศันสนีย์ ตัวแทนชาวไทยในวาระประชาชนแห่งอาเซียน กล่าวว่าบรรดานักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจะยึดในคำสัญญาของพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าจะไม่ใช้อำนาจของตนซึ่งไร้การตรวจสอบในทางที่ผิด
ทางด้าน Human Rights Watch องค์กรสิทธิมนุษยนชนระหว่างประเทศได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารของไทยยกเลิกการบังคับใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้เสียเพราะเป็นการชี้ชัดว่าไทยอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ
นอกจากนี้กลุ่มประชาสังคมแห่งอาเซียนยังต้องการให้พม่า อยู่ภายใต้การตรวจสอบต่อไปในช่วงที่มีการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มนักศึกษาและแสดงความไม่เป็นมิตรต่อบรรดาชนเผ่าต่างๆ มากขึ้น
บรรดาตัวแทนจากชาติต่างๆ ในวาระประชาชนแห่งอาเซียนชี้ว่าในขณะที่อาเซียนกำลังมุ่งสู่เป้าหมายของการผนึกตัวกันทางเศรษฐกิจในภูมิภาค บรรดาชาติสมาชิกอาเซียนจำนวนมากยังคงริดรอนสิทธิมนุษยชนกันอยู่และยังเกี่ยวข้องกับการเมืองแบบถอยหลังเข้าคลอง