เกาหลีใต้เปิดตัว 4 สาวสมาชิก MAVE: เกิร์ลกรุ๊ปเอไอ หวังรุกตลาดบันเทิงในมัลติเวิร์ส ตามรายงานของรอยเตอร์
เพียงแค่ไม่ถึง 2 เดือนเท่านั้น ที่มิวสิควิดีโอของ 4 สาวเกิร์ลกรุ๊ป MAVE: กลายเป็นคลิปไวรัล ด้วยยอดชมเกือบ 20 ล้านครั้งบนยูทูบ และปูทางสู่ความสำเร็จในเวทีบันเทิงระดับโลก
ถ้ามองผ่าน ๆ SIU, ZENA, TYRA และ MARTY สมาชิกวง MAVE: ก็เหมือนไอดอลเกาหลีทั่วไป เว้นเพียงแต่ว่าสาว ๆ เหล่านี้เป็นไอดอลที่มีตัวตนอยู่ในเมตาเวิร์ส ทั้งบทเพลง การเต้น การสัมภาษณ์ หรือแม้แต่เสื้อผ้าหน้าผมผม ได้รับการออกแบบโดยผู้ออกแบบบนเว็บไซต์และระบบปัญญาประดิษฐ์เท่านั้น
ฮัน ซู-มิน ชาวเกาหลีใต้วัย 19 ปีจากกรุงโซล บอกกับรอยเตอร์ว่า “ตอนแรกที่เห็นวง MAVE: รู้สึกสับสนว่าเป็นคนจริง ๆ หรือเป็นตัวละครเสมือนจริงกันแน่ .. เพราะฉันใช้เมตาเวิร์สกับเพื่อนบ่อยมาก และรู้สึกว่าจะเป็นแฟนคลับของพวกเธอได้”
ไอดอลคล้ายมนุษย์นี้ได้เปิดประตูสู่โอกาสที่เมตาเวิร์สจะยกระดับขึ้น หลังจากวงการบันเทิงเกาหลีใต้ผนึกกำลังกับภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา โดย MAVE: คือหนึ่งในตัวแทนของการผลักดันอย่างหนักของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ Kakao ที่หวังจะเป็นเจ้าแห่งวงการบันเทิงเกาหลี
นอกจากนี้ Kakao ยังทุ่ม 1.25 ล้านล้าน หรือราว 960 ล้านดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่อเข้าซื้อบริษัทธุรกิจบันเทิง SM Entertainment ที่ปลุกปั้นไอดอลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Girls' Generation, H.O.T., EXO, Red Velvet, Super Junior, SHINee, NCT Dream และ Aespa
ทั้งนี้ Kakao ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่าจะจัดสมดุลระหว่างไอดอลในโลกความจริงและในโลกเสมือนจริงอย่างไร
การทุ่มทุนในเมตาเวิร์สกลายเป็นเทรนด์ระดับโลกไปแล้ว บริษัทเทคฯ รายใหญ่ตั้งแต่ Meta Platforms ไปจนถึง Tencent ต่างทุ่มเงินทุนในโลกเสมือนจริงเพื่อหลีกหนีภาวะเศรษฐกิจขาลงในโลกแห่งความจริง และทาง Kakao เองได้ลงทุนในเมตาเวิร์สร่วมกับบริษัทเกม Netmarble ไป 12,000 ล้านวอนในอุตสาหกรรมบันเทิงบนเมตาเวิร์สด้วยเช่นกัน จนเกิดเป็นวงเกิร์ลกรุ๊ปเอไอ MAVE ขึ้นมา
ชู จี-ยอน ประธานฝ่ายธุรกิจบันเทิงบนเมตาเวิร์สของ Kakao ระบุว่า MAVE เป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อสำรวจโอกาสทางธุรกิจใหม่ของบริษัทและหาหนทางดำเนินธุรกิจบนความท้าทายด้านเทคโนโลยี
ไอดอลเสมือนจริงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเกาหลีใต้มากนัก เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 1998 เกาหลีใต้เปิดตัว Adam นักร้องเสมือนจริง และจากนั้นอีก 20 ปีต่อมา ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ป K/DA ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเกม League of Legends ได้เดบิวต์ในวงการบันเทิงโสมขาว แต่ศิลปินเสมือนจริงเหล่านี้ไม่ปังในวงการเท่าใดนัก
แต่ด้วยเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ที่มีความก้าวหน้าในการสร้างตัวละครเสมือนจริง ทำให้วง MAVE: ดูมีความเป็นธรรมชาติที่คล้ายมนุษย์จริง ๆ อยู่มาก เนื่องจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยสร้างรูปแบบการแสดงอารมณ์และเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ดูสมจริงยิ่งขึ้น และด้วยความช่วยเหลือของ AI voice generator ทำให้ไอดอลสาวทั้ง 4 พูดได้ถึง 4 ภาษา ได้แก่ เกาหลี อังกฤษ ฝรั่งเศส และบาฮาซา แต่ยังไม่สามารถตอบโต้ได้ทันทีและต้องพึ่งสคริปต์ที่มนุษย์เตรียมไว้ให้อยู่
สำหรับเพลงเดบิวต์แรกของวงนี้ "Pandora" มาพร้อมกับการร้องด้วยเสียงของเอไอ ขณะที่ท่วงท่าการเต้นในมิวสิควิดีโอ ได้รับการออกแบบท่าเต้นโดยมนุษย์ และใช้เทคโนโลยีการตรวจจับความเคลื่อนไหว (Motion Capture) ที่ใช้ในภาพยนตร์หรือเกม 3 มิติเข้ามาช่วย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้ตัวละครในโลกเสมือนจริง มีการเติบโตขึ้น และบริษัทบันเทิงเกาหลีทุ่มทำเนื้อหาออนไลน์เพื่อรองรับแฟน ๆ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเป็นหลัก
ลี จอง-อิม นักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมป๊อบ และอาจารย์แห่ง Seoul National University บอกกับรอยเตอร์ว่า “แฟน ๆ เริ่มเคยชินกับเนื้อหาที่ไม่ต้องเจอกับไอดอลแบบตัวต่อตัว และสื่อสารกับเหล่าไอดอลแบบออนไลน์แบบนี้มาเกือบ 3 ปีแล้ว” และว่า “ดูเหมือนพวกเขาจะยอมรับแนวคิดที่ว่าไอดอลตัวจริงกับไอดอลในโลกเสมือนจริงสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกันนี้”
ระหว่างที่เกิร์ลกรุ๊ปเอไออย่าง MAVE: กำลังเป็นประเด็นใหญ่ในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ คำถามที่ยังคงต้องรอคำตอบคือพวกเธอจะมีปฏิสัมพันธ์กับวงอื่น ๆ กับแฟน ๆ ในโลกแห่งความจริงได้หรือไม่
ลี กยู-ทัก อาจารย์จาก George Mason University วิทยาเขตเกาหลีใต้ บอกกับรอยเตอร์ว่า “ไอดอลโลกเสมือนจริงจะเคลื่อนไหวตามที่ระบุคำสั่งตั้งต้น และหากปราศจากสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ ไอดอลเอไอจะกลายเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับเทคโนโลยีวิดีโอทั่วไป ไม่ใช่ไอดอลเคป๊อป”
แต่ผู้สร้างวง MAVE: และอุตสาหกรรมบันเทิงต่างเชื่อมั่นถึงโอกาสของไอดอลเสมือนจริงในอนาคต และว่ายุคแห่งเมตาเวิร์สกำลังขยับใกล้เข้ามาแล้ว
- ที่มา: รอยเตอร์