เมื่อวันพฤหัสบดี ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารกลับมาประท้วงทั่วเมียนมาอีกครั้ง หนึ่งวันหลังทำการ “ประท้วงเงียบ” จนถนนในหลายเมืองทั่วประเทศกลายเป็นถนนร้าง
มีรายงานว่า ทหารใช้กำลังสลายการชุมนุมในเมืองมะละแหม่ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และเมืองพะอาน เมืองหลักของรัฐกะเหรี่ยง ทหารยังเผชิญหน้ากับผู้ประท้วงที่ร่วมจุดเทียนทั่วประเทศ โดยมีรายงานว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิตอย่างน้อยหนึ่งคน
กลุ่มเคลื่อนไหวท้องถิ่น Assistance Association for Political Prisoners หรือ AAPP ระบุว่า กองทัพสังหารผู้ประท้วงอย่างน้อย 286 คน มีผู้ถูกจับกุมและคุมขังอย่างน้อย 2,900 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพุธ ผู้ประท้วงกว่า 600 คนถูกปล่อยตัวจากคุกอินเส่งในนครย่างกุ้ง ซึ่งถือเป็นการแสดงท่าทีที่ประณีประนอมมากขึ้นจากทางฝั่งรัฐบาลทหาร
เมื่อวันพุธ ฟาร์ฮาน ฮัค โฆษกของนายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ “ความอดกลั้นถึงที่สุด” เนื่องจากใกล้ถึงวันกองทัพในวันที่ 27 มีนาคมนี้ โดยโฆษกฯเรียกร้องให้ “มีการรับผิดชอบต่ออาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหมดที่ยังคงเกิดขึ้นในเมียนมา”
มาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ประกาศมาตรการลงโทษต่อรัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า กองทัพเมียนมา “ปฏิเสธที่จะไม่ยอมรับการก่อรัฐประหาร และใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงอย่างสันติโดยต่อเนื่อง”
เมื่อวันพฤหัสบดี แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ “ดำเนินการครั้งสำคัญที่สุด” ต่อรัฐบาลทหารเมียนมา โดยระบุถึงบริษัท Myanmar Economic Holdings Public Company Limited หรือ MEHL และบริษัท Myanmar Economic Corporation Limited หรือ MEC สหรัฐฯ ระบุว่า ทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเมียนมา โดยเจ้าหน้าที่ทหาร กองทหาร หน่วยทหาร และองค์กรของอดีตทหาร เป็นผู้ถือหุ้นและจัดการหุ้นทั้งหมดในทั้งสองบริษัท
บลิงเคนยังระบุด้วยว่า อังกฤษจะใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันต่อบริษัท MEHL