รายงานฉบับใหม่ของสหประชาชาติที่เผยแพร่ในวันจันทร์ ระบุว่า การจับกุมยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า ทั่วเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นสถิติใหม่เมื่อปีค.ศ. 2021 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาการค้ายาเสพติดที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC เปิดเผยรายงานที่ชื่อว่า Synthetic Drugs in East and Southeast Asia: Latest Development and Challenges ที่กรุงเทพฯ ระบุถึงการจับกุมยาบ้าจำนวนมากกว่า 1,000 ล้านเม็ดเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นน้ำหนักราว 171.5 ตัน ขณะที่การจับกุมยาไอซ์ หรือ crystal meth ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 79 ตัน
UNODC กล่าวว่า การจับกุมยาบ้าที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นถึงปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่าความเพิ่มความกวดขันของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย
เจเรมี ดักกลาส ผู้แทนของ UNODC ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวกับวีโอเอว่า "อาจกล่าวได้ว่าภูมิภาคนี้กำลังประสบความยากลำบากอย่างยิ่งในการแก้ปัญหายาบ้า รวมทั้งยาเสพติดประเภทอื่น ๆ" และว่า "จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากด้านนโยบาย และการปรับสมดุลในการจัดการปัญหานี้"
ปัญหาตามแนวพรมแดน
รายงานของ UNODC ระบุว่า การผลิตยาบ้ายังคงมีศูนย์กลางอยู่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ (Golden Triangle) โดยเฉพาะในพื้นที่ของเมียนมาที่ซึ่งยังคงมีการรบพุ่งต่อเนื่องระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย ก่อนที่จะถูกนำเข้าผ่านทางพรมแดนภาคเหนือของไทยเป็นหลัก และถูกขนส่งไปยังประเทศอื่น ๆ รวมทั้ง ออสเตรเลียและญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม การปราบปรามอย่างหนักของเจ้าหน้าที่บริเวณชายแดนไทยส่งผลให้ขบวนการค้ายาบ้าต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางผ่านประเทศลาวซึ่งมีการควบคุมน้อยกว่า โดยส่วนใหญ่เป็นเส้นทางเลียบแม่น้ำโขง
พล.ต.ต.พรชัย เจริญวงศ์ รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กล่าวกับวีโอเอว่า "มีปัจจัยหลายอย่าง (ต่อปริมาณการจับกุมยาบ้าที่เพิ่มขึ้น) ประการแรกคือการปราบปรามอย่างเข้มงวดของรัฐบาล ตำรวจ และทหาร ในพื้นที่ภาคเหนือของไทย ทำให้การลักลอบขนส่งยาบ้าต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางภาคอีสานเลียบแม่น้ำโขง"
ทั้งนี้ สำนักงานกิจการยาเสพติดระหว่างประเทศและการรักษากฎหมาย ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้มอบอุปกรณ์ที่จำเป็นมูลค่าราว 670,000 ดอลลาร์ ให้แก่ตำรวจไทยเพื่อช่วยในการติดตามจับกุมยาเสพติดในภาคอีสานในปีนี้
มาร์ค ชไนเดอร์ รักษาการหัวหน้าปฏิบัติการสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวกับวีโอเอว่า การให้ความช่วยเหลือแก่ตำรวจไทยเพื่อต่อสู้กับขบวนการค้ายาเสพติด แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ในการจัดการปัญหายาเสพติดในภูมิภาคนี้ และว่า "เมื่อมีการเพิ่มความเข้มงวดและการปราบปรามในพื้นที่หนึ่ง ขบวนการอาชญากรรมนี้ก็จะปรับเปลี่ยนวิธีการไปเรื่อย ๆ "
นอกจากไทยแล้ว รายงานของยูเอ็นยังระบุว่า เมื่อปีที่แล้วมีการจับกุมยาบ้าเพิ่มขึ้นเป็นสถิติใหม่ในลาว และมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นจุดกระจายยาบ้าแหล่งใหม่ไปยังส่วนอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การปรับกลยุทธ์ของขบวนการค้ายา
รายงานของ UNODC ชี้ว่า มีเหตุผลบางประการที่ทำให้การสกัดขบวนการค้ายาบ้าทำได้ยากขึ้น รวมทั้งมีการติด "รหัส" บนหีบห่อของยาบ้า เช่น “999” และ “Y1” เพื่อช่วยให้อาชญากรสามารถติดตามยาบ้าเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น โดย "สินค้า" ที่ติดรหัสในลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 2.8% เป็น 13%
นอกจากนี้ การมี "ผู้ผลิตรายย่อย" จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ยังทำให้ปริมาณยาบ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนมีการสร้างเครือข่ายและแจกจ่ายยาเสพติดไปในวงกว้างมากขึ้น
UNODC ระบุด้วยว่า การสกัดกั้นช่องทางการซื้อขายสารเคมีที่นำมาใช้ในการผลิตยาบ้าก็ทำได้ยากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากขบวนการค้ายาใช้วิธีลักลอบนำเข้าจากตลาดมืด หรือเปลี่ยนไปใช้สารเคมีที่มีการควบคุมน้อยกว่า เป็นต้น
รายงานยังชี้ถึงการกระจายยาบ้าจากเมียนมาไปยังภาคเหนือของอินเดีย การใช้มาเลเซียเป็นช่องทางขนส่งไปยังตะวันออกกลาง และการผลิตยาเสพติดประเภทเคตามีนในกัมพูชาด้วย
- ที่มา: วีโอเอ