องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ชี้ว่า วัณโรคที่แพร่ระบาดในสัตว์ถูกละเลยมานานมาก เเละถึงเวลาเเล้วที่ต้องกำจัดโรคนี้ให้หมดไป ดังนั้น จึงเป็นครั้งเเรกที่ WHO ได้ออกเเผนปฏิบัติการเพื่อต่อสู้กับวัณโรคในสัตว์ที่เเพร่มาสู่คนได้
Anna Dean เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคที่ฝ่ายวัณโรคในสัตว์กับการดื้อยาเเห่ง WHO กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอที่นครเจนีวา ว่าวัณโรคในสัตว์เป็นปัญหาระดับทั่วโลก เเต่โรคนี้เเพร่ระบาดในแอฟริกาเป็นหลัก และพื้นที่บางส่วนในเอเชีย
Dean ผู้เชี่ยวชาญจาก WHO กล่าวว่า วัณโรคสัตว์ติดต่อสู่คนผ่านทางอาหาร คือ ผลิตภัณฑ์จากนมเเละนมที่ไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งเป็นสาเหตุการติดเชื้อโรคที่พบบ่อยที่สุด ส่วนสาเหตุที่พบน้อยที่สุดคือการติดเชื้อผ่านการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคนี้ โดยขาดการตระเตรียมเนื้อสัตว์อย่างถูกต้องตามหลักสุขอนามัย
นอกเหนือจากจะเป็นปัญหาสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพของคนเราเเล้ว WHO ย้ำว่า วัณโรคในสัตว์คุกคามต่อการหาเลี้ยงชีพของคนเราเเละนำมาซึ่งอุปสรรคทางเศรษฐกิจเเละการค้า
Dean ผู้เชี่ยวชาญเเห่ง WHO กล่าวว่าวิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดวัณโรคในสัตว์คือการฆ่าสัตว์ที่ติดเชื้อทิ้ง เธอกล่าวว่า วิธีนี้ไม่กระทบต่อการหาเลี้ยงชีพของคนในประเทศร่ำรวย อาทิ ในสหรัฐอเมริกา ที่ผู้เลี้ยงปศุสัตว์มักได้รับค่าชดเชยความเสียหายจากรัฐบาล แต่ในส่วนอื่นๆ ของโลก การฆ่าสัตว์ที่เป็นวัณโรคทิ้งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนยากจน
Dean ผู้เชี่ยวชาญแห่ง WHO กล่าวว่า การฆ่าสัตว์ที่ป่วยด้วยวัณโรคทิ้่ง ไม่เหมาะกับประเทศในแอฟริกา การใช้มาตรการเเทรกเเซงทางสุขภาพของสัตว์ ต้องใช้การลงทุนทางการเงินและทางเศรษฐกิจสูง ตนเองมองว่า การหยุดยั้งวัณโรคเเละการป้องกันวัณโรคในคนจำเป็นต้องควบคุมวัณโรคในสัตว์เสียก่อน
Dean กล่าวว่า การปรับปรุงความปลอดภัยด้านอาหารที่สามารถทำได้อย่างง่ายดาย เป็นงานที่จำเป็นมาก เธอยกตัวอย่างว่าการต้มนมที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรค จะช่วยฆ่าเชื้อวัณโรคจากสัตว์กับเชื้อเเบคทีเรียอื่นๆ ที่ทำให้คนเจ็บป่วยได้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)