ชาวอเมริกันทั่วประเทศร่วมเฉลิมฉลองวันรำลึกถึงสาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ในวันจันทร์ที่ 18 มกราคม ก่อนที่จะมีพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งของนายโจ ไบเดน ในอีกสองวันข้างหน้า ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนไปจัดแบบออนไลน์
ทุกปีในวันจันทร์ที่สามของเดือนมกราคม ชาวอเมริกันจะรำลึกถึงสาธุคุณ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองผู้เรียกร้องความเท่าเทียมของคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในสหรัฐฯ ผ่านการประท้วงอย่างสงบและสันติ
ปกติแล้ว ประชาชนจะพากันไปบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะในวันนี้เพื่อรำลึกถึงแนวทางการทำงานของ ดร.คิง แต่การระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ต้องถูกระงับไปจำนวนมาก บางกิจกรรมที่ยังมีอยู่ก็ต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด
นอกจากนั้น สัญญาณของความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางการเมืองในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ทำให้กรุงวอชิงตันได้เรียกกองกำลังสำรองแห่งชาติจำนวน 25,000 คน เข้าประจำการในกรุงวอชิงตันเพื่อควบคุมสถานการณ์ก่อนที่จะมีพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ในวันที่ 20 มกราคมนี้ ภายหลังจากเกิดเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย
บริเวณสนามหญ้าและอาคารหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ ด้านหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ ต่างถูกปิดล้อมด้วยรั้วเหล็กสูง ระบบขนส่งมวลชนถูกจำกัด ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เตือนว่าอาจเกิดความรุนแรงทางการเมืองในกรุงวอชิงตันและรัฐอื่น ๆ ทั่วประเทศ ในช่วงก่อนและหลังพิธีสำคัญดังกล่าว
ที่นครแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ แบบออนไลน์ แทนการทำพิธีที่สวนประวัติศาสตร์แห่งชาติ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เหมือนทุกปี
ประวัติ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
"ข้าพเจ้ามีความฝันว่า วันหนึ่งประเทศนี้จะลุกขึ้นยืนหยัดและจรรโลงความหมายที่แท้จริงของบทบัญญัติแห่งความเท่าเทียมกันของมนุษย์"
คือคำกล่าวของ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ขึ้นต้นด้วยประโยคว่า “I Have a Dream” หรือ “ข้าพเจ้ามีความฝัน” ในสุนทรพจน์ที่กล่าวไว้ระหว่างการเดินขบวนครั้งใหญ่ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พุทธศักราช 2506 หรือ ค.ศ 1963 กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนหลายล้านคน และยกระดับสังคมอเมริกันในด้านสิทธิพลเมืองมายาวนาน
ก่อนหน้านี้ สาธุคุณ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) เริ่มเป็นที่รู้จักในปี ค.ศ 1955 เมื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำการคว่ำบาตรรถโดยสารประจำทางในเมืองมอนท์โกเมอรี (Montgomery) รัฐอะลาบามา (Alabama) เพื่อกดดันให้ยุติการแบ่งแยกที่นั่งตามสีผิวของผู้โดยสาร
จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองในอเมริกา ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 – 1960
วิถีชีวิต การทำงาน และสุนทรพจน์หลายครั้งของ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ กลายเป็นแบบอย่างและทรงพลังมาตลอด โดยเฉพาะการเดินขบวนเมื่อปี พ.ศ. 2506 ที่ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าอเมริกา ที่ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นผู้นำการเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมือง เรียกร้องโอกาสและความเท่าเทียม โดยไม่แบ่งแยกหรือกีดกันสีผิว
ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ 1964 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ อดีตปธน. ลินดอน จอห์นสัน (Lyndon Johnson) ลงนามในร่างกฏหมายสิทธิพลเมือง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในหมู่พลเมืองอเมริกัน
ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2511 หรือ ค.ศ 1968 ที่เมืองเมมฟิส (Memphis) รัฐเทนเนสซี (Tennessee) ขณะกำลังเดินทางไปช่วยพนักงานเก็บขยะ ประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เท่าเทียม
แม้ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกลอบสังหาร ในเวลาเพียง 5 ปีหลังจากการชุมนุมและการกล่าววลีอมตะ 'ข้าพเจ้ามีความฝัน' เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2506 แต่ไม่มีใครจะสามารถทำลายความฝันที่เขาได้กล่าวในวันนั้นลงได้ และจะยังคงได้รับการสานต่อ เป็นแรงบันดาลใจและเป็นพลังสำคัญของการขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในด้านสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมและเสมอภาคกันมากขึ้น ด้วยความเชื่อว่าอุดมคติที่วาดหวังไว้จะสามารถเป็นจริงได้ในสักวัน
ในปี พ.ศ.2526 หรือ ค.ศ.1983 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศให้ วัน Martin Luther King Jr. เป็นวันหยุดประจำปี โดยนับเอาวันจันทร์ที่สามของเดือน ม.ค ของทุกปี เพื่อให้ประชาชนอเมริกันได้ร่วมรำลึกถึง ดร. คิง
และต่อมาในปี พ.ศ. 2537 หรือ ค.ศ 1994 รัฐบาลได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันบำเพ็ญประโยชน์แห่งชาติด้วย