เปิดมุมมองนักวิชาการเชื้อสายไทย จากมหาวิทยาลัยเนวาดา นคร ลาส เวกัสที่เกิดและเติบโตในชุมชนไทยที่นครลอส แองเจลิส และมีความสนใจและสอนทางด้านปัญหาการเหยียดเชื้อชาติโดยตรง และได้สะท้อนแง่มุมทางวิชาการและประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับปรากฎการ 'Black Lives Matter'
รศ. ธนชัย มาร์ค ผดุงแพทย์ นักวิชาการจากภาควิชาเอเชียนอเมริกันศึกษา มหาวิทยาลัยเนวาดา วิทยาเขต ลาสเวกัส เป็นอีกหนึ่งชาวอเมริกันเชื้อสายไทย ที่ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมของคนผิวดำ ‘Black Lives Matter’ มาหลายปี หลังเกิดกรณีความรุนแรงต่อคนผิวดำจนเสียชีวิตหลายต่อหลายครั้งทั่วอเมริกา
นักวิชาการที่เกิดและเติบโตในชุมชนไทย ที่นครลอสแอนเจลิส ยืนหยัดร่วมกับแนวทางของกลุ่ม Black Lives Matter ทั้งการไปร่วมการชุมนุม การเขียนบทความทางวิชาการ และการสอนในชั้นเรียนเกี่ยวกับปัญหาการเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติในอเมริกา
สำหรับคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียถึงเราจะอยู่ที่สหรัฐฯ นานเท่าไหร่ แต่เราก็ถูกมองหรือปฎิบัติเหมือนเป็นคนต่างชาติ... ...รศ.ธนชัย มาร์ค ผดุงแพทย์ ภาควิชาเอเชียนอเมริกันศึกษา มหาวิทยาลัยเนวาดา วิทยาเขตลาสเวกัส
รศ.ธนชัย บอกกับ ‘วีโอเอ ไทย’ ว่า เขารู้สึกถึงความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มคนผิวดำในอเมริกาที่ผ่านการต่อสู้มายาวนานเพื่อเสรีภาพ มาตั้งแต่ยุคช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 60”
“ผมรู้สึกว่าผมต้องรับผิดชอบ และช่วยเหลือกลุ่มคนผิวดำ ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพมานาน และเสรีภาพนั้นก็มีส่วนช่วยทุกคน โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยในอเมริกาได้เข้าถึงโอกาสแห่งเสรีภาพและความเท่าเทียมจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองครั้งใหญ่ของคนผิวดำ”
การต่อสู้ในครั้งนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ให้คนเชื้อชาติอื่นนอกจากคนผิวขาวสามารถเป็นพลเมืองสหรัฐฯได้อย่างเท่าเทียม ภายใต้กฎหมาย Hart–Celler Act หรือ กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และสัญชาติสหรัฐฯ: Immigration and Nationality Act) ในปี ค.ศ.1965
อาจารย์ มาร์ค ยอมรับว่า โดยส่วนตัวแล้ว การที่เขาเติบโตมาในชุมชนไทยที่ลอสแอนเจลิส เป็นคนเชี้อสายไทยที่มีสีผิวเข้มกว่าคนไทยทั่วไป ที่แม้จะดูแตกต่างออกไปแต่ก็ทำให้เขาสามารถปรับตัวเองกับเพื่อนฝูงจนเป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนผิวดำได้ไม่ยาก สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาสามารถเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง ในระดับความเข้มข้นของการโดนเหยียดเชื้อชาติ หรือ 'Racism' ระหว่างคน “ไทย-อเมริกัน” กับ “แอฟริกัน-อเมริกัน” ในสังคมอเมริกันได้เป็นอย่างน่าสนใจ
“สิ่งที่ที่คนกลุ่มน้อยทั้งสองกลุ่มเผชิญเหมือนกัน คือแม้จะให้การยอมรับหรือชื่นชอบในวัฒนธรรมของพวกเขา แต่จะไม่สามารถชื่นชอบคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมได้เลย” นักวิชาการเชื้อสายไทย จาก ม.เนวาดา บอกกับวีโอเอ ไทย
รศ.ธนชัย ยกตัวอย่างว่า คนทั่วไปอาจจะชื่นชอบ ความเก่งกาจในเชิงกีฬาฟุตบอล หรือ บาสเก็ตบอลของนักกีฬาผิวดำ แต่เขาจะไม่ชื่นชอบคนดำ เช่นเดียวกับอาหารไทยที่หลายคนอาจจะชื่นชอบ แต่มุมมองของคนเหยียดเชื้อชาติเหล่านั้นจะไม่เคยให้การยอมรับ ว่าคนเอเชีย หรือคนไทยในอเมริกานั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกัน ไม่ว่าจะอาศัย หรือ เกิด เติบโต ในอเมริกามายาวนานแค่ไหนก็ตาม
“ สำหรับคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย หรือ เชื้อสายไทย ถึงเราจะอยู่ที่สหรัฐฯ นานเท่าไหร่ แต่เราก็ถูกมองหรือปฎิบัติเหมือนเป็นคนต่างชาติ...เขาอาจไม่พูดตรงๆ ใส่หน้าคุณ ไม่ทุบตี แต่คุณจะสัมผัสมันได้ เช่น เขาอาจไม่ขายบ้าน ให้คุณกู้เงินเพื่อทำธุรกิจ หรือรับคุณเข้าทำงาน” นักวิชาการด้านเอเชียนอเมริกันศึกษา จาก ม.เนวาดา วิทยาเขตลาสเวกัส กล่าว
ขณะที่ลักษณะการเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติที่ คนแอฟริกันอเมริกันเผชิญนั้น จะมีระดับความรุนแรงของการกระทำ ทั้งการเลือกปฏิบัติ การกดขี่ การลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ตกทอดมาตั้งแต่สมัยการค้าทาส ที่อาจถึงขั้นการ ใช้ความรุนแรง ถูกทำร้าย หรือแม้แต่ฆาตกรรม
รองศาสตราจารย์ด้านเอเชียนอเมริกันศึกษา เชื้อสายไทย มองด้วยว่า ช่องว่างระหว่างชนชั้นที่กว้างขึ้น ยิ่งผลักให้กลุ่มคนที่ยากจนกว่าอย่างคนผิวดำ ชาวฮิสแปนิค และชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปอยู่ในชายขอบและมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากรัฐมากขึ้น ซึ่งรัฐเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อกดทับคนชายขอบที่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง แทนที่จะสนับสนุนให้พวกเขามีโอกาสทางสังคมมากขึ้น ซึ่งเขามองว่า ประเด็นนี้ต้องได้รับการแก้ไข ด้วยการผลักดันและเปิดโอกาสให้คนกลุ่มน้อยเหล่านั้นให้มากขึ้น