ม่านสาหร่ายที่ถูกเรียกว่า biocurtains เป็นสิ่งประดิษฐ์กึ่งวิศวกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและกึ่งศิลปะ โดยผ้าม่านที่ได้รับการออกแบบไม่เหมือนใครนี้จะถูกเติมด้วยสาหร่ายที่ช่วยดูดคาร์บอนและปล่อยออกซิเจนออกมา
ม่านสาหร่ายนี้ยังอาจเป็นองค์ประกอบเล็กๆ ในด้านวิศวกรรม ที่ช่วยในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงอีกด้วย
เจลชีวภาพสีเขียวเป็นสาหร่ายที่มีชีวิต ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ด้วยคาร์บอนเป็นหลัก และช่วยปล่อยออกซิเจนออกมาสู่บรรยากาศ โดยเจลสีเขียวนี้จะถูกปั๊มส่งเข้าไปในม่านที่แขวนอยู่บนผนังกลางแจ้ง
Marco Poletto จาก ecoLogicStudio ซึ่งเป็นผู้ปั๊มเจลสีเขียวเข้าไปในม่านนี้กล่าวว่า Cyanobacteria เป็นสาหร่ายขนาดเล็ก เซลล์ขนาดเล็กๆ นี้เป็นเครื่องสังเคราะห์แสงที่ทรงพลังมาก พวกมันจะแปลงพลังงานจากดวงอาทิตย์และดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ อนุภาค และก๊าซต่างๆ ในอากาศ และกักรวมสิ่งเหล่านั้นไว้ในตัวเอง
และว่า ไบโอเจลในปริมาณหนึ่งตารางเมตรสามารถดูดคาร์บอนได้วันละ 31 กรัม และปล่อยออกซิเจนได้วันละ 24 กรัม
Poletto และเพื่อนร่วมงาน กล่าวว่า คาร์บอนไม่ได้ถูกนำไปเก็บไว้เพียงเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปเปลี่ยนเป็นมวลชีวภาพเพื่อใช้เรื่องของอาหาร สุขภาพ อย่างเช่นในอุตสาหกรรมความสวยความงาม อุตสาหกรรมยา หรือนำไปใช้เป็นพลังงานได้
แต่เจลชีวภาพนี้เมื่อถูกนำไปใส่ในผ้าม่านแล้วจะไม่ได้คงอยู่ตลอดไป คือต้องมีการเปลี่ยนใหม่ทุกๆ สองสัปดาห์
ม่านสาหร่ายนี้ได้ถูกติดตั้งไว้ในอาคารหลายแห่งในยุโรป และถูกนำไปแสดงในงานนิทรรศการด้านเทคโนโลยีในกรุงปารีส
ทั้ง นี้ทางบริษัทสามารถสร้างม่านที่กำหนดขนาดเองได้ทุกที่ตั้งแต่ 300 ถึง 2,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่