สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป หรือ อีอีเอ (European Environmental Agency) ระบุในวันจันทร์ว่า มลพิษทางอากาศทำให้มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีในยุโรป เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่า 1,200 คนต่อปี และยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังในระยะยาวด้วย
รายงานของอีอีเอชี้ว่า "ระดับมลพิษทางอากาศในหลายประเทศของยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกตอนกลางและอิตาลี"
อย่างไรก็ตาม การสำรวจมลพิษใน 30 ประเทศของยุโรปครั้งนี้มิได้รวม รัสเซีย ยูเครน และอังกฤษ ซึ่งหมายความว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้
รายงานบอกว่า มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากมาย ตั้งแต่โรคหอบหืด การทำงานของปอดบกพร่อง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจและโรคภูมิแพ้
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อีอีเอประกาศว่ามีเยาวชนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากมลพิษทางอากาศ 238,000 คนในปี ค.ศ. 2020 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รวมทั้งไอซ์แลนด์ ลิกเทนสไตน์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี
รายงานชิ้นนี้ขอให้ผู้มีอำนาจมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพอากาศรอบสถานศึกษาและสถานดูแลเด็กเล็ก รวมถึง สถานที่ออกกำลังกายและระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า สถานการณ์ของคุณภาพอากาศในยุโรปยังคงดีกว่าอีกหลายส่วนของโลก โดยเชื่อว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลกราว 7 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนใกล้เคียงกับผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากการสูบบุหรี่ หรือทุพโภชนาการ
WHO ระบุถึงประเทศไทย ซึ่งปัญหามลพิษปกคลุมหลายพื้นที่ของประเทศ เจ้าหน้าที่กล่าวว่ามีประชาชนต้องเข้ารับการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับอากาศสกปรกแล้ว 2.4 ล้านคนนับตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้เป็นต้นมา
- ที่มา: เอเอฟพี