ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รู้จัก ‘ชมพูดับเพลิง’ – ผู้ช่วยดับไฟป่าแคลิฟอร์เนีย


เครื่องบินดับเพลิงขึ้นบินพร้อมโปรยสารดับไฟเพื่อควบคุมไฟป่าอีตัน ในแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 13 ม.ค. 2568
เครื่องบินดับเพลิงขึ้นบินพร้อมโปรยสารดับไฟเพื่อควบคุมไฟป่าอีตัน ในแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 13 ม.ค. 2568

หนึ่งในสิ่งที่ผู้ติดตามสถานการณ์ไฟป่าในลอสแอนเจลิสน่าจะได้เห็นบ่อย คือภาพหรือวิดีโอขณะที่เครื่องบินกำลังโรยสารสีชมพูสดลงบนพื้นที่ที่ไฟกำลังลามเลีย

สารดังกล่าวคือส่วนผสมทางเคมีที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเพลิงนอกเหนือจากน้ำ

หน่วยดับเพลิงทั้งหลายของสหรัฐฯ ระบุว่าสิ่งนี้ถือเป็นเครื่องมือที่ล้ำค่าสำหรับปฏิบัติการดับไฟในหลายครั้ง รวมถึงภัยพิบัติในครั้งนี้ที่สร้างความเสียหายกินพื้นที่มากกว่า 160 ตร.กม. แล้ว

สารชมพูดับเพลิงนี้ ใช้งานอย่างไร?

แดเนียล แมคเคอร์รี ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและโยธา จากมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) อธิบายว่า สารดับเพลิงที่โปรยจากท้องฟ้านั้นมักมีส่วนประกอบของน้ำ แอมโมเนียมฟอสเฟต (โดยเฉพาะปุ๋ย) และไอรอนออกไซด์ (iron oxide) ที่ทำให้สารนี้มองเห็นด้วยตาเปล่า

สภาพบ้านเรือนในเขตแมนเดอวิลล์แคนยอน รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าพาลิเสดส์ ซึ่งถูกปกคลุมไปด้วยสารดับเพลิงสีชมพู เมื่อ 13 ม.ค. 2568
สภาพบ้านเรือนในเขตแมนเดอวิลล์แคนยอน รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าพาลิเสดส์ ซึ่งถูกปกคลุมไปด้วยสารดับเพลิงสีชมพู เมื่อ 13 ม.ค. 2568

หน่วยงาน US Forest Service ซึ่งใช้เครื่องบิน 13 ลำขึ้นบินโปรยสารดับเพลิงจัดการกับสถานการณ์ในลอสแอนเจลิส เปิดเผยว่า สารชนิดนี้ช่วยลดออกซิเจนที่ทำให้ไฟมอดได้เร็ว พร้อม ๆ กับชะลออัตราการเผาของวัสดุต่าง ๆ ด้วยการเคลือบต้นไม้และพื้นผิวต่าง ๆ ในบริเวณที่เกิดไฟไหม้ให้มีอุณหภูมิเย็นลง

บริษัท Perimeter ผู้จัดจำหน่ายสารดับเพลิงนี้ให้กับ US Forest Service และหน่วยงานอื่น ๆ อธิบายเสริมว่า ฟอสเฟต (phosphate) ที่มีอยู่ในสารนี้ทำให้การย่อยสลายของสารประกอบอินทรีย์เซลลูโลสในพืชเปลี่ยนแปลงไปและทำให้พืชที่โดนสารนี้ไม่ติดไฟโดยง่ายด้วย

ทำไมถึงมีการนำมาใช้ที่แอลเอ

ไฟป่าครั้งนี้ขยายวงอย่างรวดเร็วผ่านพื้นที่หุบเขาและป่าจนเป็นเรื่องยากที่เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ภาคพื้นดินได้อย่างเต็มที่ จึงมีการใช้เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์โปรยน้ำและสารดับเพลิงมาช่วย

ภาพไฟป่าพาลิเสดส์ในเขตแมนเดอวิลล์แคนยอน รัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่ เฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงพยายามเข้าจัดการกับไฟที่ไหม้ลามอยู่ เมื่อ 11 ม.ค. 2568
ภาพไฟป่าพาลิเสดส์ในเขตแมนเดอวิลล์แคนยอน รัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่ เฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงพยายามเข้าจัดการกับไฟที่ไหม้ลามอยู่ เมื่อ 11 ม.ค. 2568

แม้สารดับเพลิงจะมีประสิทธิภาพมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะในกรณีที่ลมแรงจัด การนำเครื่องบินลงบินต่ำเพื่อโปรยสารนี้ก็อาจเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ได้ ขณะที่ตัวลมเองก็อาจพัดสารดับเพลิงไปที่อื่นก่อนจะตกถึงเป้าหมาย ตามความเห็นของหน่วยงานป้องกันไฟอย่าง Cal Fire (California Department of Forestry and Fire Protection)

ถึงกระนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับมือภัยพิบัตินี้ นอกจาก Cal Fire แล้ว ก็ล้วนเลือกใช้งานสารดับเพลิงนี้ด้วย ตั้งแต่หน่วยงานป่าไม้สหรัฐฯ (U.S. Forest Service), กรมดับเพลิงของลอสแอนเจลิส เขตเวนทูราเคาน์ตี้ ไปจนถึงหน่วยงานต่าง ๆ ของเมืองและกองกำลังสำรองของรัฐ

สารนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าหรือไม่

โดยปกติแล้ว สารดับเพลิงที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นปลอดภัยสำหรับมนุษย์ แต่หลายคนก็กังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสัตว์ป่า

หน่วยงาน US Forest Service สั่งห้ามการใช้สารดับเพลิงที่โปรยจากฟ้าลงสู่เส้นทางน้ำและถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ “เว้นแต่ในกรณีเกิดภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์หรือความปลอดภัยของสาธารณชน” เนื่องจากผลกระทบด้านสุขภาพของสารประเภทนี้ต่อปลาและสัตว์ป่าอื่น ๆ

สารดับเพลิงสีชมพูปกคลุมพื้นที่หลังบ้านหลังหนึ่งในเขตแมนเดอวิลล์แคนยอน ที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าพาลิเสดส์ นครลอสแอนเจลิส เมื่อ 11 ม.ค. 2568
สารดับเพลิงสีชมพูปกคลุมพื้นที่หลังบ้านหลังหนึ่งในเขตแมนเดอวิลล์แคนยอน ที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าพาลิเสดส์ นครลอสแอนเจลิส เมื่อ 11 ม.ค. 2568

แดเนียล แมคเคอร์รี ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับนักวิจัยหลายคนทำการทดสอบสารดับเพลิงและพบโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ เช่น โครเมียมและแคดเมียม เป็นส่วนประกอบในสารดับเพลิงชนิดที่ U.S. Forest Service ใช้เป็นประจำ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ ที่การใช้สารดับเพลิงนั้นจะส่งผลให้ปริมาณโครเมียมและโลหะหนักอื่น ๆ ในพื้นที่ปลายน้ำในป่าพุ่งสูงขึ้น

แต่บริษัท Perimeter แย้งว่า สูตรสารดับเพลิงที่ศาสตราจารย์แมคเคอร์รีทดสอบนั้นไม่ใช่สูตรเดียวกับที่ใช้ในการจัดการกับไฟป่าในแอลเอ และ U.S. Forest Service ก็ไม่ได้ใช้สูตรที่มีการทดสอบแล้วด้วย

เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอื่น ๆ การใช้สารดับเพลิงยังเป็นวิธีที่เลี่ยงไม่ได้ต่อไป

การใช้สารดับเพลิงจัดการกับเหตุไฟป่านั้นเป็นหนทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะภัยธรรมชาตินี้นำมาซึ่งความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อผู้คนหลายล้านคน โดยเฉพาะเรื่องละอองฝุ่นเป็นพิษที่ทำให้เกิดปัญหาด้านระบบการหายใจและหัวใจหากเข้าถึงปอดและกระแสเลือด

การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า เกือบครึ่งหนึ่งของมลพิษทางอากาศในรูปของฝุ่นละอองที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในภาคพื้นตะวันตกของสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดจากควันจากไฟป่าที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

ภาพนักผจญเพลิงที่เข้าพื้นที่ทำปฏิบัติการดับไฟป่าพาลิเสดส์ ในเขตลอสแอนเจลิสเคาน์ตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 11 ม.ค. 2568
ภาพนักผจญเพลิงที่เข้าพื้นที่ทำปฏิบัติการดับไฟป่าพาลิเสดส์ ในเขตลอสแอนเจลิสเคาน์ตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 11 ม.ค. 2568

นอกจากนั้น ผลการวิจัยที่สมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association) เผยแพร่ออกมาเมื่อปีที่แล้วยังพบว่า ควันจากไฟป่าอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพสมอง รุนแรงยิ่งกว่ามลพิษทางอากาศแบบอื่น ๆ ซึ่งหมายถึง ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการโรคสมองเสื่อม

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์แมคเคอร์รีชี้ว่า ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารดับเพลิงทั้งหลาย รวมทั้งชนิดที่ใช้ในเหตุไฟป่าลอสแอนเจลิสหลังสถานการณ์สงบลงแล้ว

ภัยธรรมชาติรุนแรงในพื้นที่รัฐตะวันตกของสหรัฐฯ ครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบคนและทำลายอาคารบ้านเรือนไปกว่า 12,000 หลังแล้ว ทั้งยังทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องไม่มีที่อยู่ เพราะแรงของลม Santa Ana ประจำถิ่นพื้นที่แคลิฟอร์เนียตอนใต้ ตามข้อมูลจาก Cal Fire

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG