ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นายกบังกลาเทศลาออก-หนีออกนอกประเทศ เตรียมตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล


นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาซีนา (Prime Minister's office/Handout via Reuters)
นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาซีนา (Prime Minister's office/Handout via Reuters)

นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาซีนา ลาออกในวันจันทร์และเดินทางออกนอกประเทศทันที อ้างอิงจากแหล่งข่าวหลายแห่ง ในขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศนี้ขึ้นมาเมื่อกว่า 50 ปีก่อน

พลเอกเวเกอร์-อัส-ซามาน แห่งกองทัพบกบังกลาเทศ ประกาศการลาออกของนายกรัฐมนตรีหญิงวัย 76 ปีผู้นี้ทางโทรทัศน์ และจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมาบริหารประเทศ

รายงานจากสื่อบังกลาเทศระบุว่า ชีค ฮาซีนา ได้โดยสารไปกับเฮลิคอปเตอร์ทหารเพื่อมุ่งหน้าไปยังรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียแล้ว ขณะที่รายงานจากสื่ออีกแห่งหนึ่งบอกว่าเธอเดินทางไปยังรัฐตริปุระทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

รอยเตอร์ยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของรายงานดังกล่าวได้

ภาพจากโทรทัศน์แสดงให้เห็นประชาชนหลายหมื่นคนเดินขบวนบนถนนในกรุงธากาพร้อมตะโกนขับไล่รัฐบาลและประกาศชัยชนะ มีผู้ประท้วงหลายพันคนบุกทำเนียบนายกรัฐมนตรีฮาซีนา หลายคนตะโกนว่า "เธอหนีออกนอกประเทศไปแล้ว"

People celebrate the resignation of Bangladeshi Prime Minister Sheikh Hasina in Dhaka, Aug. 5, 2024.
People celebrate the resignation of Bangladeshi Prime Minister Sheikh Hasina in Dhaka, Aug. 5, 2024.

มีภาพผู้ประท้วงบุกเข้าไปในห้องต่าง ๆ ของทำเนียบ บางคนหอบหิ้วโทรทัศน์ โต๊ะและเก้าอี้ออกมาจากอาคารที่เคยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับการรักษาความปลอดภัยมากที่สุดของประเทศนี้

ผู้ประท้วงในกรุงธากายังปีนขึ้นไปบนอนุสาวรีย์ของชีค มูจิเบอร์ ราห์มัน บิดาของฮาซีนาและผู้นำการประกาศอิสรภาพของบังกลาเทศ แล้วพยายามทำลายรูปปั้นดังกล่าว

นักศึกษาบังกลาเทศเรียกร้องให้มีการเดินขบวนในวันจันทร์เพื่อแสดงพลังต่อต้านการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ และกดดันให้ฮาซีนาลาออก หลังจากเกิดความรุนแรงทั่วบังกลาเทศเมื่อวันอาทิตย์ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน เพิ่มจากจำนวนราว 150 คนที่เสียชีวิตเมื่อเดือนที่แล้ว

ในวันจันทร์ เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจในกรุงธากา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดลีสตาร์

การประท้วงในบังกลาเทศเริ่มขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อผู้ประท้วงต้องการให้รัฐบาลเลิกระบบโควต้าที่จัดสรรงานของรัฐสูงสุด 30% ให้กับครอบครัวของทหารผ่านศึกที่ช่วยทำให้บังกลาเทศรบกับปากีสถานในการเรียกร้องเอกราช ปี 1971

ผู้เดินขบวนกล่าวว่า ระบบนี้ปิดกั้นโอกาสของประชาชน และเอื้อประโยชน์ต่อผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีฮาซีนา เนื่องจากพรรคของเธอเป็นเกนนำในการเรียกร้องเอกราช จึงอยากให้มีระบบใหม่ที่รับข้าราชการตามความสามารถ

แต่นายกรัฐมนตรีฮาซีนากล่าวว่า ระบบโควต้าสมควรให้ความสำคัญกับทหารผ่านศึก เพื่อเเสดงความเคารพต่อคุณูปการของพวกเขาต่อประเทศ โดยไม่ได้มีเรื่องความนิยมพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมาเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ฮาซีนาเพิ่งชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 4 เมื่อเดือนมกราคม หลังจากที่พรรคฝ่ายค้านคว่ำบาตรการเลือกตั้งเนื่องจากความไม่โปร่งใส

  • ที่มา: รอยเตอร์

XS
SM
MD
LG