ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มุมมองนักวิชาการไทย กับวันครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร


แฟ้มภาพ - ทหารไทยยืนสกัดกั้นกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2014
แฟ้มภาพ - ทหารไทยยืนสกัดกั้นกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2014

วันที่ 22 พฤษภาคมนี้ นับเป็นวันครบรอบ 10 ปีของการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า

วีโอเอไทยได้เรียบเรียงรายงานความเห็นและมุมมองของนักวิชาการหลายคนเกี่ยวกับโอกาสครบรอบ 10 ปีนี้ จากสื่อ เบนาร์ นิวส์ ภาคภาษาไทย ที่อยู่ใต้การดูแลของสำนักงานสื่อระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAGM หรือ United States Agency for Global Media เช่นเดียวกับ Voice of America

ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ระบุกับเบนาร์นิวส์ว่า “รัฐประหาร คสช. เป็นการรักษาสถานะทางเศรษฐกิจการเมืองแบบเดิม คือรักษาความเหลื่อมล้ำเอาไว้ เพื่อเอื้อประโยชน์ชนชั้นนำ ม. 112 ก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคณาธิปไตยเล่นงานฝั่งตรงข้าม จัดการกับผู้เห็นต่าง รัฐบาลหลังเลือกตั้งเนื้อแท้แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจที่สืบทอดกันมา”

รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ว่า “ที่มาและอำนาจหน้าที่ของ สว. ในรัฐธรรมนูญ 60 ชัดเจนว่าต้องการสืบทอดอำนาจ และรักษาแนวความคิดแบบอภิชนาธิปไตย การเลือกกันเองเป็นการมุ่งลดทอน และบิดเบือนเสียงประชาชน วุฒิสภามีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ มีอำนาจเหนือรัฐสภา ทั้งที่ไทยไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภาก็ได้”

ผศ.ดร. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญ 60 แทบจะแก้ไขไม่ได้เลย ล็อกและตรึงให้ประเทศอยู่กับที่ 8-9 ปีที่ผ่านมา มันฝืนธรรมชาติของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางการเมือง ขาดคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ ที่นอกจากต้องจัดวางโครงสร้างอำนาจ คุ้มครองสิทธิประชาชน ยังต้องเป็นกลไกที่แก้ไขความขัดแย้งในสังคม แต่รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้แก้ไข และยังขยายความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2567 คือ ผู้ต้องหาคดี ม. 112 อย่าง น.ส. เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ต้องเสียชีวิต หลังจากอดอาหารเพื่อประท้วงการไม่ได้สิทธิการประกันตัว ขณะที่ นายทักษิณ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกจากคดีทุจริตรวมสามคดีเป็นเวลา 8 ปี กลับไม่เคยต้องนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว และได้เป็นอิสระ ในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากเข้ารับโทษ

รศ.ดร. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า “รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพในการทำกิจกรรมการเมือง นักกิจกรรมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เพื่อลดความขัดแย้งรัฐบาลสามารถให้นโยบายไม่ดำเนินคดี ไม่รับแจ้งความ หรือไม่ส่งฟ้องคดี ขณะเดียวกันก็ควรลบชื่อพวกเขาออกจากบัญชีที่ต้องสอดส่องหรือติดตามด้วย”

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG