การประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC: Asia-Pacific Economic Cooperation) กำลังจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ ที่สหรัฐ ฯ
ประเด็นที่ไทยจะนำเข้าหารือที่เอเปค มีโจทย์หลักในเรื่องการค้าและการลงทุน ส่วนสาระจากการหารือนอกรอบคาดว่าจะครอบคลุมหลากหลายหัวข้อที่สะท้อนวาระการทูตที่ไทยต้องการเห็นความคืบหน้า
เมื่อวันอาทิตย์วีโอเอไทยมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกฯ ของไทย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่เพิ่งเดินทางถึงนครซานฟรานซิสโก เมืองเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเปคในครั้งนี้
เขาได้เปิดเผยกับวีโอเอไทยว่า การเจรจากรอบการค้าที่สหรัฐฯ ริเริ่ม ที่เรียกว่า IPEF (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) มีความคืบหน้าไปหลายด้านจะติดแต่เพียงเรื่องการค้าที่เป็นเสาหลักหนึ่ง ในทั้งหมดสี่เสาหลักของ IPEF ซึ่งประกอบด้วย การค้า ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความโปร่งใสและยุติธรรมทางเศรษฐกิจ
“ผมก็คิดว่า ทั้งสี่เสาหลักมาถูกทางแล้ว และค่อนข้างเป็นเรื่องที่ทันสมัย... เมื่อถามถึงความคืบหน้า เวลานี้สามเสาหลักหลังมีความคืบหน้าไปเยอะแล้วก็พร้อมที่จะลงนามกัน แต่เสาหลักแรกซึ่งเป็นเรื่องการค้าหรือ trade เป็นเสาหลักที่ต้องเจรจากัน เพราะยังมีรายละเอียดอีกหลาย ๆ ด้านที่ยังไม่ลงตัว แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จะจบลงด้วยดี"
ประเทศที่ร่วมเจรจากรอบเศรษฐกิจ IPEF มี 14 ประเทศ ได้เเก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม และไทย โดยอินเดียและฟิจิไม่ได้อยู่ในกลุ่ม เอเปคแต่ร่วมหารือกรอบ IPEF
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันศุกร์ว่า แหล่งข่าว 3 รายระบุว่าเสาหลัก IPEF เรื่องการค้าเป็นหัวข้อที่ยากที่จะให้เกิดความเห็นพ้องต้องกัน โดยหลายประเทศยังไม่เต็มใจตอบรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ หรือขอเวลาพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องมาตรฐานแรงงานและสิ่งเเวดล้อม
ระหว่างการสัมภาษณ์ รัฐมนตรีปานปรีย์ ยังได้กล่าวถึงแผนช่วยเหลือตัวประกันชาวไทย ที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป ในสงครามอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.
สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาสจับตัวประกันชาวไทยไปอย่างน้อย 23 คน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวต่างชาติจากประเทศเดียวกันทั้งหมดที่ใหญ่ที่สุด ที่ถูกฮามาสจับไว้ และยังไม่รวมถึงชาวไทยกว่า 30 คนที่ถูกสังหารในความขัดแย้งครั้งนี้
“จริง ๆ แล้วตัวประกันของเราไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับทั้งสอง (ฝ่าย) เพราะฉะนั้นเค้าไม่ควรได้รับผลกระทบตรงนี้ นอกจากนั้นการจับตัวประกันไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรม... เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันของทุกคนโดยเฉพาะของไทยให้เร็วที่สุด”
นายปานปรีย์ระบุถึงข้อมูลจากเจ้าหน้าในตะวันออกกลางที่รัฐบาลไทยประสานงานในความพยายามช่วยตัวประกันชาวไทย
“เค้าบอกว่าความยากที่จะเอาตัวประกันออกมาในเวลานั้นเนื่องจากคนที่จับตัวประกันไม่ได้มีกลุ่มเดียว มีมากกว่าหนึ่งกลุ่ม อาจจะเกินสองกลุ่มด้วยซ้ำ แลัวตัวประกันอาจถูกจับแยกกัน ไม่ได้อยู่ด้วยกันทั้งหมด”
รัฐมนตรีปานปรีย์ยังได้ตอบข้อซักถามถึงนโยบายของไทยกับรัสเซียหลังจากที่ไทยขยายกรอบเวลาให้นักท่องเที่ยวรัสเซียพำนักในไทยได้สูงสุดถึง 90 วัน จากเดิม 30 วัน รวมถึงการที่นายกรัฐมนตรีไทยเศรษฐา ทวีสินได้เอ่ยปากชวนประธานาธิบดีรัสเซียวลาดิเมียร์ ปูติน มาเยือนไทย แม้ว่า ที่ผ่านมาประเทศตะวันตกที่เป็นมิตรกับไทยได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียมาโดยตลอดสืบเนื่องจากที่รัสซียบุกยูเครนเมื่อเดือนก.พ. 2022
“มันต้องแยกกันเป็นสองส่วนนะ ในมุมการเมืองก็เรื่องนึง ในเรื่องเศรษฐกิจก็อีกเรื่องนึง...เรื่องวีซ่า 90 วันไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองเลย เป็นเรื่องของเศรษฐกิจโดยตรง ทุกวันนี้ชาวรัสเซียมาเที่ยวประเทศไทยเยอะอยู่แล้ว แล้วก็ชอบประเทศไทยมาก... เรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องความขัดแย้งของมหาอำนาจ ...อย่างที่ผมเรียนไว้แล้วว่าเราเป็นมิตรกับทุกประเทศ”
เขาบอกด้วยว่า “ท่านนายกฯ เวลาไปเยือนที่ไหน โดยมารยาทท่านก็จะเชิญทุกท่าน พอถึงเวลา จะต้องมาจริงหรือไม่มาจริง เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกครั้ง”
นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ซึ่งเดินทางถึงซานฟรานซิสโกแล้วเช่นกัน มีกำหนดพบภาคธุรกิจ ก่อนขึ้นแถลงที่เวทีผู้นำบริษัทเอกชน APEC CEO Summit ในช่วงกลางสัปดาห์ รวมถึงจะร่วมงานเลี้ยงต้อนรับผู้นำเอเปคในวันพุธ ที่ 15 พ.ย.
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีจะพบกับชุมชนไทยในเขตแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ย. ซึ่งวีโอเอจะมีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์
- รายงานโดย: สุภกิจ ภัทรธีรานนท์ วีโอเอไทย
กระดานความเห็น