ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สงครามอิสราเอล-ฮามาส: ญาติเฝ้ารอคำตอบชะตากรรมแรงงานไทยในกาซ่า


ญาติของแรงงานไทยที่ถูกลักพาตัวหรือถูกสังหารโดยกองกำลังติดอาวุธฮามาส ใช้เวลาช่วงหลายวันมานี้นับตั้งแต่เหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อวันเสาร์ ปะติดปะต่อข้อมูลรายละเอียดที่เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักบนสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่ไทยกำลังกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางรอบใหม่ครั้งนี้

กระทรวงการต่างประเทศเผยข้อมูลเมื่อวันอังคารว่า มีรายงานคนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 18 คนจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในอิสราเอล และอีก 11 คนเชื่อว่าถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน

แต่ทางกระทรวงฯ เพิ่มเติมว่าตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ เนื่องจากสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ระบุว่า การนับจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันนั้นไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลานี้ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่

ทั้งนี้ มีการประเมินว่ามีแรงงานไทยราว 30,000 คนที่ทำงานอยู่ในอิสราเอล และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่การเกษตรใกล้กับพรมแดนกาซ่า ซึ่งพวกเขาสามารถหารายได้มากกว่า 1,000 ดอลลาร์ หรือราว 36,000 บาทต่อเดือน

ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กเมื่อวันจันทร์ว่า “ดิฉันขอให้ความเชื่อมั่นกับชาวไทยว่าอิสราเอลจะมุ่งมั่นในการทำทุกวิถีทางในขอบเขตอำนาจเพื่อปกป้องแรงงานไทยในประเทศของเรา” และว่า “พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติและการปกป้องอย่างเท่าเทียมกับทุกคนในอิสราเอล”

(แฟ้มภาพ) ตำรวจไทยปฏิบัติหน้าที่ด้านหน้าสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่กรุงเทพฯ 15 กุมภาพันธ์ 2012
(แฟ้มภาพ) ตำรวจไทยปฏิบัติหน้าที่ด้านหน้าสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่กรุงเทพฯ 15 กุมภาพันธ์ 2012

ญาติของแรงงานไทยที่เชื่อว่าอาจถูกจับเป็นตัวประกัน ประสบความยากลำบากในการค้นหาข้อมูลของพิกัดที่ญาติของพวกเขา และต้องพึ่งพาภาพวิดีโอต่าง ๆ ที่แชร์บนสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กและติ๊กตอก หรือจากกองกำลังติดอาวุธที่ทำร้ายพวกเขา

ปิยนัส ภูจัตตุ วัย 27 ปีที่เชื่อว่า คมกริช ชมบัว ญาติที่ถูกจับตัวไปในฉนวนกาซาโดยกลุ่มฮามาสเมื่อวันเสาร์ ผ่านคลิปวิดีโอที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ กล่าวกับวีโอเอว่า “ทางการไทยบอกว่าจะหารือกับรัฐบาลอิสราเอลให้ และสถานทูตอิสราเอลในประเทศไทยบอกว่าพวกเขาต้องเคลียร์พื้นที่ก่อนจะค้นหาได้ พวกเขาติดตามสถานการณ์นี้อยู่ แต่ไม่ได้ยืนยันว่าเขาอยู่ที่ไหน รวมถึงไม่ทราบชะตากรรมของเขาด้วย”

สุดา เทพแก้ว ที่เชื่อว่าสามีของเธออยู่ในกลุ่มแรงงานไทย 6 คนแรกเสียชีวิต ในช่วงที่กลุ่มติดอาวุธโจมตีหอพักคนงานใกล้กับกาซ่า ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ในไทยว่า “ฉันเพิ่งได้คุยกับเขาเมื่อวันเสาร์และทุกอย่างปกติดี เราหัวเราะกันและจู่ ๆ ก็มีเสียงปืนดังขึ้น มีขีปนาวุธ และสัญญาณก็ขาดไป ... เพื่อนของเขาที่ฟาร์มมาบอกฉันทีหลังว่า ‘บอลตายแล้ว’ ” ซึ่งกล่าวถึงชื่อเล่นของสามีเธอ

อีกด้านหนึ่ง หนูพา พันธ์สะอาด แม่ของ สมควร พันธ์สะอาด แรงงานไทยในสวนกล้วย ที่ถูกยิงเสียชีวิตในนาฮัล ออซ คิบบุตซ์ ในอิสราเอล ถือภาพของลูกชายระหว่างพูดคุยกับสื่อมวลชนว่าเธอพยายามโน้มน้าวให้ลูกอยู่ที่ประเทศไทยต่อไป แต่ลูกชายบอกว่าเขามีสัญญาจ้างงาน 5 ปีที่นั่น และส่งเงินกลับมา 2,000 ดอลลาร์ หรือราว 73,000 บาทให้ครอบครัวทุกเดือน

เธอกล่าวถึงบทสนทนาสุดท้ายทางโทรศัพท์กับลูกชายว่า “ฉันบอกเขาว่าไม่ได้อยากได้เงิน ฉันอยากให้เขาปลอดภัย ฉันแค่บอกเขาว่าฉันคิดถึงเขามากแค่ไหน”

(แฟ้มภาพ) แรงงานไทยที่ทำงานในสวนกะหล่ำปลี ใกล้กับนาฮัล ออซ คิบบุตซ์ ด้านนอกฉนวนกาซา 11 กุมภาพันธ์ 2010.
(แฟ้มภาพ) แรงงานไทยที่ทำงานในสวนกะหล่ำปลี ใกล้กับนาฮัล ออซ คิบบุตซ์ ด้านนอกฉนวนกาซา 11 กุมภาพันธ์ 2010.

สำหรับอิสราเอล ไทยเป็นหนึ่งในแหล่งแรงงานต่างชาติใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่ง อ้างอิงจากกระทรวงแรงงานไทยที่ระบุว่า แรงงานส่วนใหญ่ถูกจ้างงานให้ทำงานภาคการเกษตรและส่งรายได้รายเดือนกลับบ้าน

โดยทางกระทรวงฯ คาดว่ามีแรงงานไทยราว 7,000 คนที่อาจทำงานอย่างผิดกฎหมายในอิสราเอล ซึ่งสร้างความกังวลถึงความปลอดภัยของแรงงานกลุ่มนี้ที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลการสูญหายของนายจ้าง

ทางรัฐบาลไทยให้คำมั่นว่าจะอพยพประชาชนไทยออกจากอิสราเอลทั้งหมดในช่วงเวลาเหตุการณ์ความไม่สงบนี้โดยมีรายงานว่าคนไทยเกือบ 4,000 คนลงทะเบียนขอกลับประเทศ และเที่ยวบินแรกมีกำหนดถึงประเทศไทยในวันพฤหัสบดีนี้ ตามการเปิดเผยของกระทรวงการต่างประเทศ

แต่มีรายงานไทยบางส่วนที่มีความประสงค์จะอยู่ในอิสราเอลต่อไป เพื่อหาเลี้ยงปากท้องเป็นกำลังหลักของครอบครัวที่บ้านเกิด

จักรพล วิประชา แรงงานไทยวัย 35 ปีในอิสราเอล จากทาลมีโยเซฟ (Talmei Yosef) ที่ไม่ไกลจากฉนวนกาซ่า กล่าวกับวีโอเอว่า “ผมเป็นลูกชายคนโตของบ้าน ดังนั้นผมต้องดูแลพ่อแม่ ภรรยาและลูกอีก 2 คน ... ผมทำงานมา 9 เดือนแล้ว และส่งเงินเกือบทั้งหมดกลับบ้าน”

แรงงานไทยวัย 35 ปีในอิสราเอล ยังบอกด้วยว่า “ผมไม่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลไทยเลย แต่กำลังพิจารณาทางเลือกที่ผมมีตอนนี้ หากผมกลับไป ผมยังต้องการกลับมาทำงานที่ประเทศอื่นอยู่ ด้วยหนี้สินที่ผมมี ผมไม่สามารถหางานในประเทศไทยที่ให้รายได้พอ”

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG