ในค่ำคืนของวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา หอสมุดประชาชนนิวยอร์ก (New York Public Library) ได้กลายเป็นเหมือนงานออสการ์ของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อบรรดาผู้มีชื่อเสียงจากวงการบันเทิงในสหรัฐฯ พากันหลั่งไหลมาร่วมงานมอบรางวัล ดิ อัลบีส์ (The Albies) ที่จัดโดยมูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม หรือ Clooney Foundation for Justice
ที่งานดังกล่าว มีสองทนายหญิงไทย ภาวิณี ชุมศรี และ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ เป็นตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อรับรางวัล อัลบี อวอร์ดส์ (Albie Awards) สาขา Justice for Democracy Defenders ในฐานะองค์กรที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธินักเรียนนักศึกษา นักกิจกรรม และสื่อมวลชนที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมและการแสดงออกอย่างสันติในไทย
“ทุกคนแสดงความยินดีกับเรา ให้ความสำคัญกับงานของเรามาก ซึ่งบางทีเราก็รู้สึกว่าเมืองไทยเราอยู่ไกล ไม่นึกว่าเขาจะให้ความสำคัญ ก็ดีใจมาก” ภาวิณี ชุมศรี หรือ ทนายแอน ที่บินตรงมาจากกรุงเทพเพื่อมาร่วมงานนี้ ให้สัมภาษณ์วีโอเอไทยก่อนเข้ารับรางวัล และกล่าวว่าราวัลนี้จะส่งผลในเชิงบวกต่อการทำงานของศูนย์ทนายฯ
“การที่ได้รางวัลอย่างนี้ระดับนี้ อย่างน้อยก็มีคนให้ความสนใจว่ามันมีปัญหาการละเมิดสิทธิในไทยนะ มีคนถูกจับ ถูกขัง ถูกดำเนินคดีเป็นพันสองพันคน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก ส่วนใหญ่เป็นคนที่ออกมาชุมนุมใช้เสรีภาพในการแสดงออกแสดงความคิดเห็น ในการที่เราได้รับรางวัล ก็ทำให้เห็นว่าปัญหาเรื่องการดำเนินคดีกับบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องสำคัญ”
ด้าน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ ทนายจูน กล่าวว่าได้รับทราบข่าวดีนี้อย่างเงียบ ๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน ผ่านการต่อสายตรงจาก อามัล คลูนีย์ (Amal Clooney) ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิร่วมกับ จอร์จ คลูนีย์ (George Clooney) สามีและนักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดัง
“จริง ๆ อามัล คลูนีย์ โทรศัพท์แจ้งโดยตรง ว่าปีนี้ ดิ อัลบีส์ สาขาที่ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน อยากจะมอบให้ศูนย์ทนาย เพราะเขาได้เห็นว่าสถานการณ์ในไทยที่มีผู้ชุมนุมประท้วงโดยสันติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วโดนดำเนินคดี มีกลุ่มศูนย์ทนายความฯ ให้ความช่วยเหลือมาตลอด”
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งขึ้นไม่นานหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2557 หลังมีการเรียกบุคคลไปรายงานตัว จับกุม คุมขัง และนำประชาชนขึ้นไต่สวนบนศาลทหาร โดยทำหน้าที่บันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิ ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ในจังหวะหนึ่ง อามัล คลูนีย์ ยังได้กล่าวกับผู้สื่อข่าว เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ (New York Times) ด้วยว่า ต้องการให้รางวัลนี้เป็นแสงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศต่าง ๆ และยกตัวอย่างประเทศไทย ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรือให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวมากนัก
สองทนายสาวจากไทยได้รับมอบรางวัลจาก จอน สจวร์ต (Jon Stewart) อดีตพิธีกรขื่อดังจากรายการเสียดสีสังคม The Daily Show ซึ่งในการกล่าวรับรางวัล ศิริกาญจน์ ได้บอกเล่าเรื่องราวของเพื่อนร่วมงาน อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ที่เพิ่งถูกส่งเข้าเรือนจำ หลังศาลอาญาตัดสินจำคุก 4 ปี ข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์
ทนายจูนยังกล่าวถึงเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีเกือบ 300 คน โดยในจำนวนนี้ มีลูกความที่อายุน้อยที่สุดคือ เด็กอายุ 12 ปี และขอให้ผู้ที่มาร่วมงานให้การสนับสนุน และนึกถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไทย
“รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่มาได้จังหวะดีมาก เพราะประเทศเราสถานการณ์ทางการเมือง ก็เพิ่งจะมีอะไรพัฒนามาใหม่ ๆ มีรัฐบาลใหม่ ขณะเดียวกันก็มีสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังมีอยู่ และเป็นข้อท้าทายของรัฐบาลใหม่ด้วย ที่เราคุยกันอยู่นี่เราก็มีคนที่ยังอยู่ในคุก คนที่ถูกควบคุมตัวจากการแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องประชาธิปไตย เยอะพอสมควร” เธอกล่าว
ด้านภาวิณี กล่าวถึงความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำว่า
“คาดหวังว่าจะมีการยกเลิกหรือยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่มีความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ มีความคิดเห็นที่แตกต่างออกมาแสดงความคิดเห็นในรัฐบาลที่ผ่านมา เราเรียกร้องให้มีการพิจารณาเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และเรื่องการสั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งปล่อยตัวนักโทษการเมือง ไม่ว่าปล่อยโดยการประกันตัว หรือปล่อยโดยคดียุติก็ตาม”
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความหลังพิธีมอบรางวัลว่า นักแสดงระดับแนวหน้าอย่าง แมตต์ เดมอน (Matt Damon), เอมิลี่ บลันท์ (Emily Blunt), เมอรีล สตรีป (Meryl Streep), แอนน์ แฮทธาเวย์ (Anne Hathaway), และสการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน (Scarlett Johansson) ได้ร่วมแสดงความยินดีกับสองทนายหญิงไทย
ดิ อัลบีส์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สอง ยังได้มอบรางวัลให้กับนักรณรงค์เคลื่อนไหวและสื่อมวลชนจากอีกสี่ประเทศ เช่น คองโก ซีเรีย อิหร่าน และยูเครน อีกด้วย
กระดานความเห็น