ในวันศุกร์นี้ รัสเซียจะส่งยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกในรอบ 47 ปี ขึ้นไปลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เพื่อแข่งขันกับอินเดียในการศึกษาหาแหล่งน้ำที่อาจนำมาใช้สำหรับการตั้งอาณานิคมของมนุษย์บนดวงจันทร์ในอนาคต
การส่งยานสำรวจครั้งนี้จะมีขึ้นที่ศูนย์วอสตอชนี คอสโมโดรม (Vostochny cosmodrome) ซึ่งองค์การอวกาศรัสเซีย รอสคอสมอส (Roscosmos) กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ยานลูนา-25 (Luna-25) จะไปถึงดวงจันทร์ในวันที่ 23 สิงหาคม
เมื่อเดือนที่แล้ว อินเดียเพิ่งส่งยานสำรวจดวงจันทร์ จันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ไปขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นจุดที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจมีน้ำแข็งปกคลุม และอาจนำไปสกัดเป็นเชื้อเพลิงและออกซิเจน หรือแม้กระทั่งน้ำดื่มได้ในอนาคต
รอสคอสมอส ยืนยันว่า ยานสำรวจของรัสเซียกับอินเดียจะลงจอดในพื้นที่ห่างกัน และจะไม่ทำภารกิจทับซ้อนกันแม้จะเริ่มการสำรวจในเวลาไล่เลี่ยกันก็ตาม
ภารกิจหลักของยานลูนา-25 คือการนำตัวอย่างหินในชั้นความลึกราว 15 ซม.จากพื้นผิวของดวงจันทร์กลับมายังโลกเพื่อทดสอบว่ามีละลองน้ำแช่แข็งอยู่ใต้ชั้นหินนั้นหรือไม่
เดิมทีรัสเซียวางแผนโครงการนี้ไว้เมื่อปี 2021 แต่ต้องล่าช้าไปเกือบสองปีเนื่องจากภาวะการระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน
- ที่มา: รอยเตอร์