บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น โตโยต้า (Toyota) ประกาศในวันอังคาร เตรียมเปิดตัวแบตเตอรีชนิดแข็งคุณภาพสูงและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จะช่วยยกระดับระยะทางในการขับขี่และลดต้นทุนของรถยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต
แผนพัฒนาเทคโนโลยีของโตโยต้าจะรวมถึงการพัฒนาแบตเตอรีรุ่นใหม่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และการออกแบบโรงงานใหม่ให้รองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อแข่งขันในตลาดที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและโตโยต้ากำลังตามหลังคู่แข่งสำคัญ คือ เทสลา (Tesla) ที่ถือเป็นผู้นำตลาด
แผนดังกล่าวถูกประกาศออกมาก่อนที่จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีในวันพุธนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดถึงความล่าช้าของโตโยต้าในการปรับเปลี่ยนไปเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า
โตโยต้ามีแผนเปิดตัวแบตเตอรีลิเธียม-ไอออน รุ่นใหม่ ในปี 2026 ซึ่งทางบริษัทบอกว่าจะทำให้เดินทางได้ระยะทางไกลกว่าและใช้เวลาในการชาร์จไฟน้อยลง โดยตั้งเป้าว่าจะนำออกสู่ตลาดได้ในช่วงปี 2027-2028
ทั้งนี้ แบตเตอรีชนิดแข็ง หรือ Solid-state battery ใช้อิเลกทรอไลต์แบบแข็งที่มีความเสถียรสูง สามารถเก็บไฟได้นานกว่าแบตเตอรีที่ใช้อิเลกทรอไลต์ชนิดเหลว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าแบตเตอรีแบบใหม่นี้จะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสมัยแห่งรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วยการเพิ่มระยะทางต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง อย่างไรก็ตาม แบตเตอรีที่ว่านี้ยังคงมีราคาแพงมากในปัจจุบัน
โตโยต้าเผยว่า จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ไกลถึง 1,000 กม. ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง โดยใช้แบตเตอรีลิเธียม-ไอออน ซึ่งมากกว่าระยะทางของ เทสลา โมเดล วาย (Tesla Model Y) รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลกที่สามารถวิ่งได้ไกล 530 กม.ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง
นอกจากเทคโนโลยีแบตเตอรีแล้ว โตโยต้ายังเผยแผนพัฒนาโรงงานแบบใหม่ที่ใช้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนและลดการทำงานแบบสายพานการผลิตที่ใช้กันมานานนับร้อยปี โดยโตโยต้าเรียกระบบแบบใหม่ว่า "สายพานทำงานอัตโนมัติ" ที่รถยนต์สามารถเคลื่อนที่ไปได้เองระหว่างที่อยู่ในกระบวนการผลิตและประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ
เมื่อปีที่แล้ว โตโยต้าขายรถยนต์ไปเกือบ 10.5 ล้านคน และมีมูลค่าการตลาดราว 254,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเทสลาที่ขายลดยนต์น้อยกว่าโตโยต้าถึง 1 ใน 8 แต่กลับมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 791,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อการเติบโตของเทสลา
- ที่มา: รอยเตอร์