ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สภาสหรัฐฯ ส่งสัญญาณความกังวล ‘ฟอร์ด’ ใช้เทคโนโลยีแบตเตอรีจากจีน


Ford EV Losses
Ford EV Losses

การเดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มสูบของสหรัฐฯ ได้กระตุ้นให้มีการพึ่งพาเทคโนโลยีแบตเตอรีจากจีนมากขึ้น และสร้างความกังวลให้กับทางการสหรัฐฯ มากขึ้นด้วยเช่นกัน

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บิล ฟอร์ด ผู้บริหารบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) ประกาศว่า บริษัทกำลังวางแผนสร้างโรงงานแบตเตอรีแห่งใหม่ในรัฐมิชิแกน โดยชี้ว่าการลงทุนมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์จะทำให้สหรัฐฯ มี “ความเป็นอิสระ” ในเรื่องของแบตเตอรีที่จำเป็นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV

ผู้บริหารฟอร์ด มอเตอร์ อธิบายว่า “ตอนนี้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายนำเข้าแบตเตอรีส่วนใหญ่จากต่างประเทศ นี่เป็นกระบวนการที่ล่าช้าและมีราคาแพง ทำให้เราเสี่ยงต่อการหยุดชะงักในระบบห่วงโซ่อุปทาน”

โรงงานแห่งนี้จะมีการจ้างแรงงานในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีแบตเตอรีที่ผลิตขึ้นนั้นจะใช้เทคโนโลยีที่มาจากบริษัทผู้พัฒนาและผลิตแบตเตอรีลิเธียมไอออนของจีนที่ชื่อว่า CATL ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน

ผู้บริหารฟอร์ด มอเตอร์ ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ความร่วมมือนี้จะช่วยให้เราเร่งการผลิตแบตเตอรีได้ด้วยตนเอง แบตเตอรีทั้งหมดจะผลิตในรัฐมิชิแกน และเป็นการผลิตเพื่ออเมริกา”

ข่าวดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมไปยังนักการเมืองอเมริกันในสภาสหรัฐฯ หนึ่งในนั้นคือ วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน มาร์โก รูบิโอ ซึ่งคัดค้านกฎหมาย Inflation Reduction Act ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งรวมถึงการให้เครดิตภาษีสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ

Marco Rubio Senate
Marco Rubio Senate

วุฒิสมาชิก รูบิโอ ให้ทัศนะว่าเครดิตภาษีมูลค่าเก้าพันล้านดอลลาร์ สำหรับรถไฟฟ้าที่มีแบตเตอรีของจีนประกอบอยู่ด้วย คุณไม่สามารถผลิตแบตเตอรีเหล่านั้นได้หากไม่มีจีน กลายเป็นว่าจีนได้ผลประโยชน์ตรงนี้ไป

ในเดือนมีนาคมปีนี้ วุฒิสมาชิก รูบิโอได้แนะนำกฎหมายที่กีดกั้นการให้เครดิตภาษีการผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ EV ที่มีการใช้เทคโนโลยีของจีน และเรียกร้องให้คณะทำงานของประธานาธิบดีไบเดนทบทวนรายละเอียดเรื่องความร่วมมือระหว่างบริษัท Ford และบริษัท CATL

โจนาธาน วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ชี้ว่า “ทำเนียบขาวได้เรียกร้องให้มีการทบทวนในประเด็นห่วงโซ่อุปทานซึ่งจะครอบคลุมถึงแบตเตอรีรุ่นต่อไปแล้ว”

โจนาธาน วาร์ด เป็นผู้เขียนหนังสือจำนวนสองเล่มที่กล่าวถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจ การทหาร และการเมืองของจีน โดยเขากล่าวว่าทศวรรษแห่งการว่าจ้างการผลิตภายนอกสหรัฐฯ แทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำงานร่วมกับบริษัทจีนอย่าง CATL เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม EV ภายในประเทศ

วาร์ดอธิบายว่าโดยพื้นฐานแล้ว ร้อยละ 60 ของตลาดแบตเตอรีโลกมาจากบริษัทจีน และ CATL ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรีมีส่วนแบ่งในตลาดทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 34

ในปี 2019 ถึงปี 2020 รองศาสตราจารย์ ซาราห์ บาวเออร์เล แดนซ์แมน จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายและการวิเคราะห์ ให้กับคณะกรรมาธิการด้านการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐฯ (Committee on Foreign Investment in the United States – CFIUS) ซึ่งเธอเป็นหัวหน้าฝ่ายการทบทวน ธุรกรรมการลงทุนต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ ที่ทางวุฒิสมาชิก รูบิโอต้องการให้คณะกรรมาธิการนี้เข้าตรวจสอบข้อตกลงใบอนุญาตระหว่างบริษัท Ford และบริษัท CATL

รองศาสตราจารย์ แดนซ์แมน กล่าวว่า “วุฒิสมาชิกรูบิโอให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้อย่างจริงจัง ว่าเราไม่ต้องการพึ่งพาเทคโนโลยีของจีน … การที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเหล่านั้นเป็นการกดดันภาคเอกชนอย่างมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีข้อโต้แย้งที่ดีมากพอ ว่าทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น”

ในประเด็นกฎหมายที่เสนอโดย สว.รูบิโอ ทางบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ระบุว่าบริษัทในเครือจะสร้างและดำเนินการโรงงานแบตเตอรีแห่งใหม่ในรัฐมิชิแกน และจะ "ไม่มีหน่วยงานอื่นใดจะได้รับประโยชน์ด้านภาษีจากโครงการนี้"

ทั้งนี้ แผนการของบริษัท Ford Motor สำหรับโรงงานแห่งใหม่ในรัฐมิชิแกนมีขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกันรายงานว่ามีการขาดทุนจากการดำเนินงานมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ EV ในปี 2022

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG