เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก หรือ World Press Freedom Day ที่ตรงกับวันพุธที่ 3 พ.ค. หน่วยงานที่สนับสนุนเสรีภาพในการทำงานของสื่อ เช่น องค์กร Reporters Without Borders รวมทั้ง วีโอเอ หรือ Voice of America ต่างนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ว่าด้วยการทำงานของนักข่าวในประเทศต่าง ๆ
Reporters Without Borders จัดทำดัชนีเสรีภาพ World Press Freedom Index และประเมินสถานการณ์ใน 180 ประเทศทั่วโลกเมื่อปีที่เเล้ว ซึ่งพบว่าร้อยละ 70 ของประเทศเหล่านี้ยังคง “มีปัญหา” ด้านเสรีภาพสื่อ
เคลย์ตัน ไวย์เมอร์ ผู้อำนวยการบริหารของ Reporters Without Borders กล่าวว่า ในโลก ยังคงมีผู้สื่อข่าว 533 คนถูกคุมขัง
หนึ่งในประเทศที่มีปัญหารุนเเรงคือรัสเซีย ซึ่งอันดับเสรีภาพสื่อของปีล่าสุดร่วงลง 9 อันดับมาอยู่ที่ 164 โดยการปราบปรามสื่อทวีความรุนเเรงขึ้นหลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน
ในกลุ่มประเทศที่มีปัญหารุนเเรง หลายประเทศอยู่ในเอเชียตะวันออก เช่นเวียดนาม จีน และเกาหลีเหนือ ซึ่งอยู่ที่อันดับ178 179 และ 180 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
สำหรับไทย เสรีภาพสื่อปีล่าสุดอยู่ที่ 106 ดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งอยู่อันดับ 115 ข้อมูลของ Reporters Without Borders ระบุว่า ยังมีนักข่าวสองรายในไทยที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้
ขณะเดียวกัน วีโอเอสัมภาษณ์นักข่าวจากหลายประเทศที่สถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อเป็นที่น่ากังวล
จ้าว ลานเจี้ยน คือหนึ่งในบรรดานักข่าวในรายงานพิเศษของวีโอเอ เขาหลบหนีภัยการคุกคามจากประเทศจีน และมาอาศัยอยู่ไม่ไกลจากกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ
เขากล่าวว่า สิ่งท้าทายที่สำคัญที่สุดต่อการทำข่าวเกี่ยวกับจีน คือการคุมคุมของรัฐที่ขณะนี้รุนเเรงที่สุดในรอบหลายสิบปี และมีนักข่าวถูกควบคุมตัวอยู่ในคุกแล้วกว่า 100 คน
ต่อคำถามเดียวกัน บล็อกเกอร์จากเวียดนามที่เป็นที่รู้จักในชื่อ "Mother Mushroom” และมีชื่อจริงว่า เหงียน น็อก นู ควินห์ กล่าวว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ แม้เวียดนามจะมีสื่อที่ทำข่าวกว่า 700 แห่ง แต่เสรีภาพของนักข่าวถูกลดทอนในการทำงานอย่างเป็นกลางและอิสระด้วยความสัตย์จริง
ทั้งนี้ "Mother Mushroom” อาศัยอยู่ที่เมืองฮิวสตันรัฐเท็กซัสในตอนนี้ เธอเคยถูกสั่งจำคุก 10 ปีในข้อหาโฆษณาชวนเชื่อที่เป็นการต่อต้านรัฐ เธอได้รับรางวัลที่ยกย่องความกล้าหาญของสตรีหรือ International Women of Courage Awardจากรัฐบาลสหรัฐฯ
ส่วน นักข่าวโทรทัศน์ อาห์มี ชาวเมียนมาที่ของสงวนชื่อเต็ม ผู้ทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของสื่ออิสระแห่งหนึ่ง กล่าวว่า สถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อย่ำแย่ลงอย่างมากหลังการทำรัฐประหาร และนักข่าวในเมียนมา อาจถูกตั้งข้อหากระทำผิด หรือไม่ก็อยู่ในอันตรายที่อาจถึงชีวิตได้
- ที่มา: วีโอเอ