จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย รวมทั้งหลายประเทศในยุโรปและตะวันออกกลาง ต่างพยายามนำพลเมืองและนักการทูตของตนออกจากซูดานในวันจันทร์ ท่ามกลางการสู้รบอย่างหนักระหว่างกองทัพบกซูดานกับกองกำลังกึ่งทหาร ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
การต่อสู้ระหว่างกองทัพกับกองกำลังกึ่งทหารเคลื่อนที่เร็ว อาร์เอสเอฟ (Rapid Support Forces) เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 427 คน สร้างความเสียหายต่อโรงพยาบาลและหน่วยงานหลายแห่ง และทำให้เขตที่อยู่อาศัยหลายแห่งกลายเป็นพื้นที่สงคราม
ในวันจันทร์ การต่อสู้ในกรุงคาร์ทูมปะทุขึ้นอีกครั้ง ควันไฟลอยขึ้นจากสนามบินระหว่างประเทศในเมืองหลวงของซูดาน ซึ่งติดกับที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพบก ขณะที่มีเสียงปืนและปืนใหญ่ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การสู้รบบรรเทาลงในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อเปิดทางให้สหรัฐฯ และอังกฤษ อพยพเจ้าหน้าที่ทางการทูตออกจากซูดาน นำไปสู่การแห่อพยพครั้งใหญ่ของเจ้าหน้าที่การทูตของอีกหลายประเทศในวันจันทร์
กองทัพบกซูดานและกองกำลังกึ่งทหาร อาร์เอสเอฟ ผนึกกำลังกันก่อรัฐประหารเมื่อปี 2021 แต่ผู้นำทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้เรื่องการร่วมจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน นำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความกังวลว่าหลายฝ่ายอาจถูกดึงเข้าสู่สงครามกลางเมืองครั้งนี้ด้วย เนื่องจากซูดานอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 7 ประเทศ และอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ระหว่างอียิปต์ และทะเลแดง
กองกำลังทั้งสองฝ่ายปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติที่กังวลความปลอดภัยต่อพลเมืองของตน
หลายประเทศ รวมทั้ง แคนาดา ฝรั่งเศส โปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐฯ ต่างระงับการทำงานทางการทูตหรือปิดสถานทูตในซูดานอย่างไม่มีกำหนด
รัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ เพกกา ฮาวิสโต กล่าวว่า "เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมเลยที่ชาวต่างชาติต้องอพยพออกจากซูดานในสถานการณ์เช่นนี้" พร้อมเสริมว่า การที่ชาติตะวันตกยุติการทำงานทางการทูตในซูดาน เพิ่มความเสี่ยงที่รัสเซียจะเข้าไปขยายอิทธิพลในซูดานแทน
หลายประเทศใช้วิธีส่งเครื่องบินทหารจากจิบูตีไปยังเมืองหลวงของซูดานเพื่อรับเจ้าหน้าที่การทูตและพลเมืองของตน หรือส่งขบวนรถไปยังท่าเรือซูดานซึ่งอยู่ห่างจากกรุงคาร์ทูมราว 800 กม. จากนั้นนั่งเรือต่อไปยังซาอุดิอาระเบีย
ขบวนรถขนส่งชาวต่างชาติอย่างน้อย 2 ขบวนถูกโจมตีเมื่อสุดสัปดาห์ รวมทั้งขบวนรถของเจ้าหน้าที่การทูตกาตาร์ และของพลเมืองชาวฝรั่งเศส ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อยหนึ่งคน
วิกฤติด้านมนุษธรรม
ประชาชนซูดานและประเทศเพื่อนบ้านหลายหมื่นคนอพยพออกจากซูดานในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา รวมทั้งอียิปต์ ชาด และซูดานใต้ ท่ามกลางความกังวลเรื่องการขนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ ในซูดาน
สหประชาชาติระบุไว้ก่อนเกิดการต่อสู้ครั้งล่าสุดว่า 1 ใน 3 ของประชากรซูดาน 46 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนทางมนุษยธรรม และการสู้รบยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง น้ำดื่มกลายเป็นสิ่งที่หาได้ยากในกรุงคาร์ทูม ขณะที่ไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตถูกตัดในหลายพื้นที่
องค์การความช่วยเหลือระหว่างประเทศระบุว่า เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรอบกรุงคาร์ทูมในช่วงนี้ พร้อมเตือนว่าระบบสาธารณสุขของซูดานกำลังเสี่ยงต่อการล่มสลาย
- ที่มา: รอยเตอร์