ภารกิจดาวเทียมระหว่างประเทศที่นำโดยองค์การอวกาศนาซ่า ปล่อยตัวจากทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อไม่นานมานี้ ในโครงการวิทยาศาสตร์โลกครั้งสำคัญเพื่อทำการสำรวจมหาสมุทร ทะเลสาบ และแม่น้ำของโลกอย่างครอบคลุมเป็นครั้งแรก
SWOT ซึ่งย่อมาจาก Surface Water and Ocean Topography คือดาวเทียมเรดาร์ขั้นสูงที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้มองเห็นของเหลวที่ให้ชีวิตซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราว 70% ของโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เกิดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับกลไกและผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จรวด Falcon 9 ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท SpaceX ของมหาเศรษฐีอิลอน มัสค์ ถูกวางตัวให้เป็นผู้นำนำ SWOT ขึ้นสู่วงโคจรจากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์กของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ห่างจากลอสแองเจลิสไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 275 กม. และหากทุกอย่างดำเนินไปตามแผน ดาวเทียมที่มีขนาดเท่ากับรถ SUV จะสามารถจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยได้ภายในเวลาหลายเดือน
ในระยะเวลาเกือบ 20 ปีของการพัฒนา SWOT ได้รวมเทคโนโลยีไมโครเวฟเรดาร์ขั้นสูงที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าจะสามารถรวบรวมการวัดความสูง-พื้นผิวของมหาสมุทร ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำด้วยรายละเอียดที่มีความละเอียดสูงกว่า 90%
นักวิจัยเผยว่า ข้อมูลที่รวบรวมจากการตรวจจับด้วยเรดาร์ของดาวเคราะห์อย่างน้อยสองครั้งทุก ๆ 21 วัน จะช่วยพัฒนาแบบจำลองการไหลเวียนของมหาสมุทร ช่วยในเรื่องการพยากรณ์อากาศและสภาพอากาศ และช่วยในการจัดการแหล่งน้ำจืดที่ขาดแคลนในพื้นที่แห้งแล้ง
ดาวเทียมดังกล่าวได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นที่ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ขององค์การนาซ่า ใกล้กับลอสแองเจลิส ส่วน SWOT พัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯ โดยร่วมมือกับหน่วยงานในฝรั่งเศสและแคนาดา
เบน แฮมลิงตัน (Ben Hamlington) นักวิทยาศาสตร์ของ JPL ซึ่งเป็นผู้นำทีมการศึกษาระดับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลของนาซ่ากล่าวว่า "นี่เป็นภารกิจแรกในการสังเกตระดับน้ำเกือบทั้งหมดบนพื้นผิวโลก"
ภารกิจหลักอย่างหนึ่งคือ การสำรวจว่ามหาสมุทรสามารถดูดซับความร้อนในชั้นบรรยากาศและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไรในกระบวนการทางธรรมชาติที่ควบคุมอุณหภูมิโลกและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ในการสแกนมหาสมุทรจากวงโคจรนั้น SWOT ได้รับการออกแบบมาเพื่อวัดความแตกต่างได้อย่างแม่นยำของระดับความสูงของพื้นผิวรอบ ๆ กระแสน้ำที่มีขนาดเล็กลง ซึ่งเชื่อว่ามีการดึงความร้อนและคาร์บอนของมหาสมุทรเกิดขึ้นมากมาย และ SWOT สามารถทำได้ด้วยความละเอียดสูงกว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ถึง 10 เท่า ตามข้อมูลของ JPL
มีการประเมินว่ามหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนส่วนเกินมากกว่า 90% ที่ถูกกักไว้ในชั้นบรรยากาศโลกโดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นมา
Nadya Vinogradova Shiffer นักวิทยาศาสตร์โครงการ SWOT ของ NASA ในวอชิงตัน กล่าวว่า การศึกษากลไกที่เกิดขึ้นจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศตอบคำถามสำคัญที่ว่า "อะไรคือจุดเปลี่ยนที่มหาสมุทรเริ่มปล่อยความร้อนจำนวนมหาศาลกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศแทนที่จะดูดซับ และเป็นตัวเร่งภาวะโลกร้อนแทนที่จะจำกัดเอาไว้
นอกจากนี้แล้ว ความสามารถของ SWOT ยังถูกนำมาใช้เพื่อศึกษาผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นบนแนวชายฝั่งอีกด้วย โดยข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้นตามเขตน้ำขึ้นน้ำลงจะช่วยทำนายว่า เหตุการณ์น้ำท่วมจากคลื่นพายุซัดฝั่งอาจทะลุผ่านแผ่นดินได้ไกลเพียงใด ตลอดจนขอบเขตของน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้าไปยังปากแม่น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดิน
- ที่มา: รอยเตอร์