ธนาคารกลางจีนสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของตนลงในวันจันทร์ เพื่อหวังปลุกความต้องการผู้บริโภคหลังข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวกว่าคาดในเดือนกรกฎาคม ในช่วงที่กิจกรรมการผลิตและการค้าปลีกหดตัวอันเนื่องมาจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของกรุงปักกิ่งและวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ยังดำเนินอยู่
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics – NBS) ชี้ว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมจีนขยายตัว 3.8% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากระดับ 3.9% ของเดือนก่อน และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 4.6% ด้วย
ส่วนตัวเลขการค้าปลีกที่เพิ่งกลับมาขยายตัว 3.1% ในเดือนมิถุนายน ชะลอตัวลงด้วยอัตราการเพิ่มเพียง 2.7% ในเดือนต่อมา ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 5% ด้วย
จูเลียน เอฟวานส์-พริตชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านเศรษฐกิจจีน จาก Capital Economics ให้ความเห็นว่า ข้อมูลเดือนกรกฎาคมชี้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวหลังการล็อกดาวน์เริ่มอ่อนแรงลง เมื่อแรงกระตุ้นจากการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งหมดฤทธิ์ และปัญหาเงินกู้บ้านทำให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ย่ำแย่ลงอีกแล้ว
ดังนั้น ในวันจันทร์ ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราเงินกู้ระยะเวลา 1 ปี จาก 2.85% มาที่ 2.75% พร้อมอัดฉีดเงินจำนวน 400,000 ล้านหยวน หรือราว 60,000 ล้านดอลลาร์เข้าไปในตลาด เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หนี่ เหวิน นักเศรษฐศาสตร์จาก Hwabao Trust ซึ่งตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของไตรมาสที่ 3 ลง 1% มาเหลือ 4-4.5% เพราะตัวเลขเศรษฐกิจของเดือนกรกฎาคมที่ออกมาอ่อนตัวกว่าคาดนี้ พร้อมระบุว่า การที่จะเห็นจีดีพีของจีนในระดับ 5-5.5% ในช่วงครึ่งหลังของปีนั้น “เป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว”
- ที่มา: รอยเตอร์และเอพี