ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ถอดบทเรียนวิกฤตศรีลังกา - ชี้พิกัดประเทศเสี่ยงอื่นๆ


APTOPIX Sri Lanka Health Crisis
APTOPIX Sri Lanka Health Crisis

เศรษฐกิจและการเมืองในศรีลังกาเข้าสู่จุดวิกฤตอย่างรุนแรง โดยเฉพาะช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชาชนบุกเข้าบ้านพักของผู้นำประเทศ ท่ามกลางภาวะขาดเเคลนสินค้าจำเป็น และราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อต้นสัปดาห์ว่าประชาชนยังคงปักหลักยึดทำเนียบประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ และบ้านของนายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห และเรียกร้องให้ทั้งสองลาออกจากตำแหน่ง

รอยเตอร์รายงานว่ารัฐสภาศรีลังกาจะเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ในวันที่ 20 กรกฎาคม โดยประธานสภาผู้เเทนราษฎร มหินธา ยาปา อะเบย์วาร์เดนา กล่าวว่าจะมีการประชุมสภาในวันศุกร์นี้ และ ในอีก 5 วันจากนั้นจะลงมติเลือกประธานาธิบดี

ส่วนเอพีออกรายงานเชิงวิเคราะห์ว่า วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งการบริหารที่ผิดพลาด รวมถึงปัญหาทุจริตที่เรื้อรังมานาน นอกจากนั้น ภาคการท่องเที่ยวของประเทศได้รับผลกระทบรุนเเรงเช่นกันตั้งแต่เหตุระเบิดโจมตีโบสถ์วันอีสเตอร์ ที่คร่าชีวิตเหยื่อกว่า 260 คน เมื่อ 3 ปีก่อน

ในขณะที่รัฐออกมาตรการกระตุ้นรายได้เพื่อชดเชยภาระหนี้ต่างชาติที่ใช้ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทางการใช้มาตรการลดภาษี และในเวลาต่อมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทรุดลงต่อเนื่องหลังเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส

A cow takes refuge from rain under an overpass at a generally crowded intersection during a lockdown imposed to curb the spread of COVID-19 in Colombo, Sri Lanka.
A cow takes refuge from rain under an overpass at a generally crowded intersection during a lockdown imposed to curb the spread of COVID-19 in Colombo, Sri Lanka.

ศรีลังกาเดินทางมาสู่การพังครืนของเศรษฐกิจ กับหนี้ 51,000 ล้านดอลลาร์ ที่ไม่สามารถที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวได้ ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ทั้งราคานำ้มัน อาหารรวมถึงของใช้จำเป็นอีกหลายชนิด โดยต้นทุนราคาอาหารพุ่งสูง 57% อ้างอิงจากข้อมูลของรัฐบาลศรีลังกา ในตอนนี้รัฐเร่งหาเงินมากู้เศรษฐกิจจากการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF โดยด่วน

คำถามที่ตามมาคือ หากพิจารณาประเทศต่าง ๆ ในโลก มีประเทศใดมีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับศรีลังกาบ้าง เพราะหลายแห่งมีการบริหารจัดการและพื้นฐานการเงินที่ไม่สามารถรับมือมรสุมจากเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน เมื่อสงครามในยูเครนทำให้ทั่วโลกเผชิญกับเงินเฟ้อ

สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมว่า มีประชากรโลก 1,600 ล้านคน ใน 94 ประเทศ อย่างน้อยหนึ่งเหตุการณ์วิกฤตด้านอาหาร พลังงานเเละระบบการเงิน อ้างอิงข้อมูลจากกลุ่มงาน Global Crisis Response Group ภายใต้สำนักของเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ

รายงานของกลุ่มดังกล่าวระบุด้วยว่า ในบรรดาประชากร 1,600 ล้านคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มี 1,200 ล้านคนที่อยู่ภายใต้องค์ประกอบที่ครบถ้วนของ "พายุ" ที่จะสั่นคลอนวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างร้ายเเรง ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น และผลกระทบระยะยาวด้านอื่นๆ

เอพียกตัวอย่างประเทศ 9 เเห่งในกลุ่มเสี่ยงรุนเเรงมากที่สุด อันได้เเก่ อัฟกานิสถาน อาร์เจนตินา อียิปต์ ลาว เลบานอน เมียนมา ปากีสถาน ตุรกี และซิมบับเว

สำหรับประเทศในเอเชีย ที่ปากีสถานถูกกล่าวถึงเนื่องจาก ปากีสถานก็กำลังเจรจากับ IMF เช่นเดียวกับศรีลังกา เพื่อต่ออายุเงินช่วยเหลือ 6,000 ล้านดอลลาร์ โครงการช่วยเหลือดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงหลังจากที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอิมราน คาน ถูกขับออกไปเมื่อเดือนเมษายน นอกจากนี้ ปากีสถานยังต้องต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ 21% และค่าเงินรูปีที่อ่อนลงประมาณ 30% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา

ธนาคารโลกเตือนว่า "เศรษฐกิจมหภาค (ของปากีสถาน) กำลังเอนเอียงอย่างรุนเเรงไปสู่ทิศทางขาลง"

Myanmar Economy
Myanmar Economy

สำหรับเมียนมา เอพีรายงานว่าการระบาดของโคโรนาไวรัสและความไม่มั่นคงทางการเมือง คือปัจจัยที่ถาโถมใส่เศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะตั้งเเต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางออง ซาน ซู จีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่เเล้ว

ผลจากการยึดอำนาจของทหารคือ โลกตะวันตกใช้มาตรการลงโทษต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวมากถึง 18% ปีที่เเล้วเเละอาจจะเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในปีนี้ นั่นยังไม่รวมถึงความลำบากของประชากรกว่า 700,000 คนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ของตน เนื่องจากความขัดเเย้งที่ใช้อาวุธหนักปะทะกันและจากความรุนเเรงทางการเมือง

ในส่วนของลาว ประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีดินเเดนติดทะเลซึ่งเคยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดจนกระทั่งเกิดโควิด-19 การระบาดของโคโรนาไวรัสทำให้คนจำนวนมากตกงาน และเช่นเดียวกับศรีลังกาหนี้ของลาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนรัฐบาลต้องเข้าสู่การเจรจากับ IMF ขณะที่ ค่าเงินกีบของประเทศอ่อนค่าลง 30%

Laos trade union will raise minimum wage to 1.5m a month in March 2022
Laos trade union will raise minimum wage to 1.5m a month in March 2022
  • ที่มา: เอพี รอยเตอร์ และวีโอเอ
XS
SM
MD
LG