ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาวศรีลังกาแห่ยึดทำเนียบปธน.- เผาบ้านนายกฯ! ลั่นไม่เลิกจนกว่าผู้นำจะยอมลาออก


Protesters gather in and around the premisses of prime minister's official residence a day after it was stormed in Colombo, Sri Lanka, July 10, 2022.
Protesters gather in and around the premisses of prime minister's official residence a day after it was stormed in Colombo, Sri Lanka, July 10, 2022.

ประชาชนชาวศรีลังกาหลายพันคนบุกไปยังทำเนียบประธานาธิบดีและเผาบ้านของนายกรัฐมนตรีศรีลังกาในกรุงโคลัมโบ พร้อมประกาศว่าจะยึดทำเนียบไว้จนกว่าทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจะยอมลาออก

ผู้ประท้วงที่โกรธแค้นต่อการบริหารประเทศและวิกฤติเศรษฐกิจ ต่างพากันยึดทำเนียบของประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ ไว้ตั้งแต่วันเสาร์ พร้อมกับจุดไฟเผาบ้านพักของนายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห ของศรีลังกาด้วย

ก่อนหน้านี้ ทั้งประธานาธิบดีราชปักษะ และนายกรัฐมนตรีวิกรมสิงเห ตา่งให้คำมั่นกับรัฐสภาศรีลังกาว่าจะลงจากตำแหน่งในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้มีการส่งต่ออำนาจการบริหารอย่างราบรื่น แต่ผู้ประท้วงยังคงต้องการให้ผู้นำทั้งสองคนลาออกในทันที

รายงานระบุว่า ประธานาธิบดีราชปักษะได้ถูกทหารนำตัวไปยังสถานที่ปลอดภัยซึ่งไม่เปิดเผยว่าเป็นที่ใด ก่อนที่จะการประท้วงใหญ่ครั้งล่าสุดจะเริ่มขึ้น ถือเป็นวิกฤติทางการเมืองครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา

ภาพที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์แสดงให้เห็นประชาชนหลายร้อยคนบุกเข้าไปในทำเนียบที่ใหญ่โตหรูหราของปธน.ราชปักษะ ผู้ประท้วงจำนวนมากกระโจนลงไปในสระว่ายน้ำของทำเนียบ หรือนั่งอยู่ตามระเบียงบ้าน และตะโกนด่าทอผู้นำศรีลังกา

Protesters swim as onlookers wait at a swimming pool in president's official residence a day after it was stormed in Colombo, July 10, 2022.
Protesters swim as onlookers wait at a swimming pool in president's official residence a day after it was stormed in Colombo, July 10, 2022.

รายงานบอกว่า ผู้ประท้วงใช้รถโดยสาร รถบรรทุกและรถไฟเดินทางเข้ามาในกรุงโคลอมโบ พร้อมโบกธงสีดำและธงชาติศรีลังกา และต่างตะโกนขับไล่ประธานาธิบดีให้ลงจากตำแหน่งทันที

ทางการศรีลังกาส่งเจ้าหน้าที่เกือบ 20,000 คนเพื่อไปควบคุมการประท้วงและปกป้องความปลอดภัยรอบทำเนียบปธน. แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถป้องกันบรรดาผู้ประท้วงที่พยายามบุกเข้าไปด้านในได้ โดยมีรายงานผู้ประท้วงหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ และน้องชาย คือ มหินทรา ราชปักษะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นเป้าวิจารณ์ถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศ นำไปสู่การประท้วงขับไล่ออกจากตำแหน่งที่กลายเป็นเหตุรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาของศรีลังกา

นายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห ซึ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม ออกมายอมรับว่า เศรษฐกิจของประเทศ “ล่มสลาย” ลงแล้ว เพราะขาดแคลนเงินสำหรับการนำเข้าอาหารและพลังงานที่จำเป็นในการขับเคลื่อนประเทศ รวมทั้งมองหาช่องทางการกู้ยืมจากจีน อินเดีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF

นายกฯ ศรีลังกา ผู้ซึ่งเข้ามารับเผือกร้อนได้ไม่กี่สัปดาห์ในการกู้วิกฤตเศรษฐกิจประเทศ ยอมรับว่าประเทศกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ก้นบึ้งของวิกฤติ ภาพของประชาชนชาวศรีลังกาต้องอดมื้อกินมื้อเพราะภาวะขาดแคลนอาหารและสินค้าจำเป็น ต้องต่อแถวรอคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อหาน้ำมันเชื้อเพลิงกลายเป็นความเป็นจริงอันโหดร้ายของศรีลังกาซึ่งเคยมีภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงมองว่า นายกฯ วิกรมสิงเห ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกฯ มาแล้วถึงหกครั้ง มีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีราชปักษะ และถูกกล่าวหาด้วยว่าพยายามปกป้องตระกูลราชปักษะมากเกินไป

บรรดาผู้ประท้วงต่างพากันบุกบ้านพักของนายกฯ เมื่อวันเสาร์ และจุดไฟเผา ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายกฯ วิกรมสิงเห ไปยังสถานที่ปลอดภัยแล้ว

A man checks the debris of the burnt private residence of prime minister Ranil Wickremesinghe in Colombo, Sri Lanka, July 10, 2022.
A man checks the debris of the burnt private residence of prime minister Ranil Wickremesinghe in Colombo, Sri Lanka, July 10, 2022.

นักเศรษฐศาสตร์ ต่างกล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งการบริหารที่ล้มเหลวและปัญหาการทุจริตที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน

ปัจจุบัน รัฐบาลศรีลังกามีภาระหนี้ 51,000 ล้านดอลลาร์ และไม่สามารถที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวได้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ได้รับผลกระทบการการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และความกังวลเรื่องความปลอดภัยหลังจากเหตุก่อการร้ายเมื่อ 3 ปีก่อน ซ้ำร้ายค่าเงินศรีลังการ่วงหนักถึง 80% ทำให้การนำเข้าสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้นอย่างมาก และทำให้ภาวะเงินเฟ้อของประเทศเป็นปัญหาที่ยากเกินควบคุม ด้วยต้นทุนราคาอาหารพุ่งสูง 57% อ้างอิงจากข้อมูลของรัฐบาลศรีลังกา

จากปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวมา ได้ผลักให้ศรีลังกาดำดิ่งเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ไม่มีเงินสำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง นม แก๊สหุงต้ม หรือแม้แต่กระดาษชำระ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการทุจริตในศรีลังกา ซึ่งไม่เพียงแต่ทำลายความมั่งคั่งของประเทศ แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการกู้วิฤตการเงินของศรีลังกาอีกด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG